ราคาเชื้อเพลิงพุ่ง!! คนใช้จุก ค่าไฟต้นปี แพงขึ้นเกือบ 4 บาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ราคาเชื้อเพลิงพุ่ง!! คนใช้จุก ค่าไฟต้นปี แพงขึ้นเกือบ 4 บาท

Date Time: 8 พ.ย. 2561 15:17 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • คนใช้ไฟอ่วม!! เรกูเลเตอร์มีมติ ปรับขึ้นค่าเอฟที งวดหน้า ม.ค.-เม.ย. 4.30 สต. จากราคาเชื้อเพลิงแพงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 3.6396 บาท/หน่วย ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม

Latest


คนใช้ไฟอ่วม!! เรกูเลเตอร์มีมติ ปรับขึ้นค่าเอฟที งวดหน้า ม.ค.-เม.ย. 4.30 สต. จากราคาเชื้อเพลิงแพงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 3.6396 บาท/หน่วย ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม...

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้เรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) สำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.62 จำนวน -11.60 สตางค์/หน่วย เมื่อเทียบกับค่า Ft ที่เรียกเก็บในปัจจุบัน -15.90 สตางค์/หน่วย ปรับเพิ่มขึ้นจากงวดก่อน 4.30 สตางค์/หน่วย ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยราคาเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง

"ถึงแม้ว่าปัจจัยต้นทุนของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ายังคงมีความผันผวนในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า ตามที่ กกพ. ได้ส่งสัญญาณล่วงหน้ามาอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ในการประกาศค่า Ft ในรอบนี้ ยังคงต้องบริหารจัดการต้นทุนที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน สร้างความราบรื่นในการปรับตัวให้กับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเป็นหลัก" น.ส.นฤภัทร กล่าว

สำหรับการคาดการณ์ปัจจัยราคาเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้าในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.62 เทียบกับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.61 ซึ่งประกอบด้วย ราคาก๊าซธรรมชาติ จาก 286.83 บาท/ล้านบีทียู มาเป็น 299.50 บาท/ล้านบีทียู เพิ่มขึ้น 12.67 บาท/ล้านบีทียู, ราคาน้ำมันเตา จาก 15.69 บาท/ลิตร มาเป็น 16.86 บาท/ลิตร เพิ่มขึ้น 1.17 บาท/ลิตร, ราคาน้ำมันดีเซล จาก 19.68 บาท/ลิตร มาเป็น 23.16 บาท/ลิตร เพิ่มขึ้น 3.48 บาท/ลิตร, ราคาถ่านหินนำเข้า จาก 2,583.04 บาท/ตัน มาเป็น 2,697.40 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 114.36 บาท/ตัน และการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ จาก 1.73 บาท/หน่วย มาเป็น 1.81 บาท/หน่วย เพิ่มขึ้น 0.08 บาท/หน่วย

ทั้งนี้หากพิจารณาปัจจัยราคาเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดมาคำนวณโดยที่ไม่มีการบริหารจัดการ จะส่งผลให้อัตราค่า Ft สำหรับการเรียกเก็บงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.62 เพิ่มขึ้นสูงถึง 24 สตางค์/หน่วย เมื่อเทียบกับค่า Ft ที่เรียกเก็บในปัจจุบัน -15.90 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้เรียกเก็บค่า Ft เพิ่มขึ้นเป็น 8.10 สตางค์/หน่วย และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าไปบริหารจัดการ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน และเอื้อต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมด้วย

นอกจากนี้คาดการณ์ว่าราคาเชื้อเพลิงจะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และยืนอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าในระยะต่อไปยังคงอยู่ในภาวะขาขึ้น ดังนั้นเพื่อสนับสนุนการปรับตัวให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศ รวมทั้งการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน กกพ. ได้ดำเนินการมาตรการทั้งการบริหารจัดการ และมาตรการทางการเงินเข้าไปดูแล พร้อมทำการปรับประมาณการค่า Ft ให้สอดคล้องกับภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง และพิจารณากำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงให้สอดคล้องกันกับภาวะการณ์ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม จากการประกาศปรับเพิ่มค่า Ft ที่เรียกเก็บงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.62 มาที่ระดับ -11.60 สตางค์/หน่วย จะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 3.6396 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จาก 3.5966 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม).


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ