"พาณิชย์" แก้ไข่ไก่ล้นตลาดราคาตกต่ำ ส่งขายต่างประเทศ 60 ล้านฟอง หลังเอกชนยอมเฉือนเนื้อขาดทุน 15 ล้านบาท และเก็บเข้าห้องเย็น 60 ล้านฟอง พร้อมกระจายผ่านธงฟ้า 10 ล้านฟอง ตั้งเป้าดึงราคาขึ้น 2.8 บาท/ฟอง...
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุ ได้หารือร่วมกับกรมปศุสัตว์ ผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยและรายใหญ่ รวมทั้งผู้ส่งออกไข่ไก่ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำในปัจจุบัน โดยราคารับซื้อไข่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 2.30 บาท/ฟอง ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนผลิตไข่ไก่ที่อยู่ที่ 2.80 บาท/ฟอง และบางพื้นที่ผู้เลี้ยงรายย่อยขายได้ต่ำกว่า 2 บาท/ฟอง เนื่องจากขณะนี้มีไข่ไก่ล้นตลาดถึง 60 ล้านฟอง หรือความต้องใช้การบริโภค 2-3 วันถึงจะหมด และยังมีไข่ไก่ส่วนเกินออกใหม่เข้ามาสมทบสต็อกอีกวันละ 10 ล้านฟอง หรือมีไข่ไก่ออกสู่ตลาด 50 ล้านฟอง/วัน มากกว่าการบริโภค 40 ล้านฟอง/วัน
ทั้งนี้ มาตรการเร่งด่วนที่จะแก้ไขปัญหา คือ ดึงไข่ไก่ส่วนเกินออกจากระบบ ดังนั้นที่ประชุมได้ข้อสรุปแบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ ของบประมาณจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) หรือขออนุมัติจากงบกลาง 15 ล้านบาท เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ส่งออกไข่ไก่ให้ผลักดันไข่ไก่ออกตลาดต่างประเทศ 60 ล้านฟอง ระยะเวลา 3 เดือน
“การส่งออกไข่ไก่ 60 ล้านฟอง จะใช้เงิน 30 ล้านบาท ในจำนวนนี้ผู้ค้าจะขาดทุนจากการส่งออก 50 สตางค์-1 บาท/ฟอง แบ่งเป็นรัฐและผู้ค้าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอย่างละครึ่ง คือ ผู้ส่งออกยอมขาดทุน 15 ล้านบาท เพื่อส่งออกไข่ไก่ ส่วนอีก 15 ล้านบาท ภาครัฐช่วยจะช่วยเป็นค่าใช้จ่ายบรรจุภัณฑ์ คัดเกรด เป็นต้น ให้กับผู้ส่งออก” นายวิชัย กล่าว
นอกจากนี้ จะของบประมาณจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) วงเงิน 130-140 ล้านบาท มาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้กับผู้เลี้ยงในการนำไข่ไก่ 60 ล้านฟองเก็บเข้าห้องเย็น เพื่อดึงไข่ไก่ออกจากระบบเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งเงินส่วนนี้จะต้องนำกลับมาคืนรัฐเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการใช้มาตรการ และการผลักดันให้มีการบริโภคไข่ไก่เพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันไข่ไก่ 10 ล้านฟอง ขายผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐ 45,000 แห่ง และขายผ่านงานมหกรรมธงฟ้าอีก 20 จังหวัด เพื่อเพิ่มการบริโภคไข่ไก่ให้มากขึ้น
“หลังจากที่มีข่าวว่าจะออกมาตรการช่วยเหลือไข่ไก่ไปนั้น ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มวันนี้ปรับขึ้นมา 20 สตางค์ อยู่ที่ 2.50 บาท/ฟอง โดยเชื่อว่าหลังจากใช้มาตรการดังกล่าวแล้วจะทำให้ราคาไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าจะดึงราคาไข่ไก่ให้ขึ้นมาอยู่ที่ 2.80 บาท/ฟอง เป็นราคาที่ผู้เลี้ยงไม่ขาดทุน ซึ่งจะเร่งทำเรื่องของบคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อดำเนินการให้เร็วที่สุด” นายวิชัย กล่าว
สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาว ทางกรมปศุสัตว์จะรับผิดชอบในการหยุดการเพิ่มของผลผลิตไข่ไก่ โดยจะลดปริมาณไก่ยืนกรงจาก 57 ล้านตัว เหลือ 52 ล้านตัว หรือลดลง 10% จะทำให้ผลผลิตไข่ไก่ลดจาก 48 ล้านฟอง/วัน เหลือ 40 ล้านฟอง/วัน ใกล้เคียงกับความต้องการบริโภค และมีแผนจะลดการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่จาก 550,000 ตัว เหลือ 500,000 ตัว ซึ่งจะต้องจัดทำรายละเอียดอีกครั้งว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบลดการผลิตไข่ไก่ลงไปแค่ไหน แต่จะยกเว้นรายย่อยไม่ต้องดำเนินการตามแผนที่กำหนดนี้
ด้านนายสุรชาติ กำหอม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ กล่าวว่า สมาคมฯ จะเข้ามาช่วยเรื่องการผลักดันไข่ไก่ออกต่างประเทศ โดยตลาดส่งออกไข่ไก่สำคัญของไทยคือ ฮ่องกง สิงคโปร์ และตะวันออกกลาง แต่ก็จะหาตลาดอื่นๆ เพิ่มเติม และจะผลักดันจาก 50 ตู้ เพิ่มเป็น 200 ตู้ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายดึงส่วนเกินไข่ไก่ออกจากระบบ
ขณะที่ นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ กล่าวว่า พอใจกับมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งหากผลักดันให้ราคาไข่ไก่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เกษตรกรไม่ขาดทุน.