นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยภายหลังหารือกับนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยว่า การหารือในครั้งนี้มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า การประกาศให้บริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% นักท่องเที่ยว ณ จุดขาย หรือ Vat Refund For Tourist เป็นการดำเนินการถูกต้องตามประกาศของอธิบดีกรมสรรพากร ส่วนกรณีบริษัท แวตรีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ที่เกิดจากการรวมตัวของห้างเซน ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, ห้างเซ็นทรัล ชิดลม, ดิ เอ็มโพเรียม, โรบินสัน สุขุมวิทและสยามพารากอน ไม่ผ่านการพิจารณาจากกรมสรรพากร เนื่องจากเสนอจุดบริการถึง 5 จุด มากกว่าหลักเกณฑ์ที่ประกาศไว้คือเพียง 3 จุดเท่านั้น
“การหารือในครั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน โดยบริษัทเอกชนรับทราบนโยบายของกรมสรรพากรในการเปิดให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยวเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ดังนั้น กรมสรรพากรพร้อมที่จะรับการอุทธรณ์จากภาคเอกชน โดยจะพิจารณาภายในระยะเวลาที่กำหนดคือไม่เกิน 30 วัน”
นายเอกนิติ กล่าวว่า ขณะนี้กรมสรรพากรยังไม่ได้รับหนังสืออุทธรณ์จากภาคเอกชน แต่โดย หลักการแล้ว การพิจารณาอุทธรณ์ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักเกณฑ์เดิมที่ประกาศคือ ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนคืนภาษีแวต และต้องมีจุดให้บริการ 3 จุด ส่วนข้อเสนอหรือเงื่อนไขที่แตกต่างไปจากนี้ เป็นเรื่องของภาคเอกชนที่สามารถเสนอมาให้พิจารณาได้
ด้านนายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า หลังจากนี้จะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับสมาชิกสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเพื่อดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร ส่วนกรณีที่เสนอไป 5 จุดบริการสำหรับคืนภาษีแวตนั้น เพราะไม่สามารถตัดสมาชิกรายใดรายหนึ่งออกไปได้ ทำให้เกิดความผิดพลาดและไม่ตรงตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด ส่วนกรณี บริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด สามารถจดทะเบียนคืนภาษีแวตได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด ขณะที่บริษัท แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จดไม่ทันนั้น ตนไม่ทราบสาเหตุ.