นายประยูร ช่วยแก้ว รักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามยุทธศาสตร์เพิ่มรายได้ ตามแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ว่า จากเดิม ขสมก.ตั้งเป้าจะนำอู่รถเมล์ซึ่งมีพื้นที่ตั้งอยู่ในทำเลทองที่มีศักยภาพจำนวน 2 แห่ง คือ บางเขน และมีนบุรี มาพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ด้วยการเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนา แต่ขณะนี้เกิดปัญหา ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากฝ่ายกฎหมายของกระทรวงคมนาคมได้ทำความเห็นแย้งมาว่าการนำพื้นที่ซึ่งเป็นอู่รถเมล์ราว 80% ของพื้นที่ทั้งหมด มาพัฒนาเชิงพาณิชย์ไม่เหมาะสม หากจะดำเนินการต่อจะต้องกลับไปปรับลดสัดส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ลงให้น้อยกว่าพื้นที่สำหรับการเดินรถ เนื่องจากวัตถุประสงค์การจัดตั้ง ขสมก.ตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ภารกิจหลักของ ขสมก. คือ การให้บริการเดินรถเท่านั้น
“หากจะต้องปรับลดขนาดพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เหลือน้อยลงกว่าพื้นที่เดินรถ คงไม่มีเอกชนรายใดสนใจ เพราะไม่คุ้มค่า ขณะที่การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เป็นสิ่งจำเป็นที่ ขสมก.ต้องทำให้สำเร็จ เพื่อหารายได้มาเสริม เพราะรัฐบาลไม่อนุญาตให้ปรับขึ้นค่าโดยสารมานานแล้ว ดังนั้น จะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ”
ทั้งนี้ หากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแล้วมีความเห็นเหมือนกับฝ่ายกฎหมายของกระทรวงคมนาคม ทาง ขสมก.จะผลักดันให้แก้ไขพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519 โดยจะขอเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้นำที่ดินของ ขสมก.มาประกอบธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินรถได้ เช่นเดียวกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือน ขสมก. แต่นำที่ดินมาเปิดประมูลทำร้านกาแฟได้ รวมทั้งจะขอให้แก้ไขเพิ่มเติมให้ ขสมก.ออกพันธบัตรได้ในอนาคตด้วย ซึ่งขั้นตอนการขอแก้ไขกฎหมายนี้จะถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูธุรกิจของ ขสมก.
สำหรับแผนการพัฒนาเชิงพาณิชย์นั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาแล้วระบุว่า ให้นำอู่บางเขนและมีนบุรีมาเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบพีพีพี สัญญาเช่า 30 ปี โดยอู่บางเขน มีพื้นที่ 12 ไร่ มีมูลค่าที่ดินมากกว่า 1,000 ล้านบาท อู่มีนบุรี มีพื้นที่ 14 ไร่ มีมูลค่าที่ดินราว 1,000 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่า ขสมก.จะมีรายได้จากการนำอู่ทั้ง 2 มาพัฒนาเชิงพาณิชย์ ปีละไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท.