ส่งออกไทย มิ.ย. รับส้มหล่น สงครามการค้ามะกัน-จีนหนุนโต 8.19 %

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ส่งออกไทย มิ.ย. รับส้มหล่น สงครามการค้ามะกัน-จีนหนุนโต 8.19 %

Date Time: 21 ก.ค. 2561 05:45 น.

Summary

  • ส่งออกไทยถูกหวย! เดือน มิ.ย.ขยายตัว 8.19% รับอานิสงส์สงครามการค้า ดันมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทะลุกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญฯ หลังแห่นำเข้าเหล็ก-ไอทีทดแทนสินค้าจีน

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

ส่งออกไทยถูกหวย! เดือน มิ.ย.ขยายตัว 8.19% รับอานิสงส์สงครามการค้า ดันมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทะลุกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญฯ หลังแห่นำเข้าเหล็ก-ไอทีทดแทนสินค้าจีน รวมครึ่งปีแรกขยายตัว 10.95% โตสุดรอบ 7 ปี

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ยอดส่งออกของไทยในเดือน มิ.ย.2561 มีมูลค่า 21,779.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.19% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.2560 ขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 694,112.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.84% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 20,201.4 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 10.83% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 652,583.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.44% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 1,578.5 ล้านเหรียญฯ หรือ 41,529.6 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อหักมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และทองคำออกแล้ว การส่งออกเดือน มิ.ย.2561 จะขยายตัว 6.3%

ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2561 การส่งออกมีมูลค่า 125,811.7 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 10.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดรอบ 7 ปี เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 3.963 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.78% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 122,356.1 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 15.61% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 3.906 ล้านล้านบาท ส่งผลให้เกินดุลการค้า 3,455.6 ล้านเหรียญฯ

สำหรับปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการส่งออกเดือน มิ.ย.ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าการเติบโตจะชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกไปสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 6.9% มูลค่า 2,488 ล้านเหรียญฯ เพราะสหรัฐฯนำเข้าสินค้าจากไทยทดแทนสินค้าจากจีน ภายหลังจากได้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มไฮเทคโน-โลยีและสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ที่สหรัฐฯใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ากับจีน พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในกลุ่มเหล่านี้ไปตลาดสหรัฐฯเดือน มิ.ย.ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก เช่น สินค้าไอที เพิ่ม 21% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน, เครื่องคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เพิ่ม 50%, เครื่องจักรและเครื่องมือ เพิ่ม 22%, ของใช้ในบ้าน เพิ่ม 33%, ชิ้นส่วนยานยนต์ เพิ่ม 41%

ขณะที่กลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียม 168 รายการ ที่สหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกในอัตรา 25% และ 10% ไปแล้วนั้น พบว่า ไทยส่งออกสินค้าทั้ง 168 รายการไปสหรัฐฯเพิ่มขึ้นถึง 29.3% เช่น ท่อเหล็ก เพิ่ม 291% เหล็กและเหล็กกล้า เพิ่ม 500% และเหล็กอื่นๆ เพิ่ม 34% ส่วนแผงโซลาร์เซลล์และเครื่องซักผ้าที่สหรัฐฯขึ้นภาษีไปก่อนหน้านี้ พบว่า ไทยส่งออกโซลาร์เซลล์ลดลง 21.9% ส่วนเครื่องซักผ้าลดลง 2.0%

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า สงครามการค้าในขณะนี้ แสดงให้เห็นว่า การส่งออกของไทยแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย เพราะผู้ส่งออกของไทยปรับตัวรองรับผลกระทบ โดยขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่น และยังเร่งส่งออกสินค้าเข้าไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ

“สิ่งที่กังวล คือการส่งออกเหล็กของไทยไปสหรัฐฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องตรวจสอบเพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าไม่มีการแอบอ้างแหล่งกำเนิดสินค้า (สวมสิทธิ์) จากไทยส่งออกไปสหรัฐฯ และต้องเข้มงวดตรวจสอบไม่ให้มีการทำผิดกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ เพราะไทยเป็นประเทศที่เน้นแฟร์เทรด ค้าขายกับสหรัฐฯอย่างตรงไปตรงมา จะไม่ทำอะไรผิดๆ ส่วนสินค้าที่คาดว่าสหรัฐฯจะขึ้นภาษีทั้งในกลุ่มยานยนต์และไอที คาดว่าในช่วงนี้จะมีการเร่งนำเข้าสินค้าเข้าไปสหรัฐฯ และบางส่วนเข้าไปทดแทนตลาดนำเข้าที่ถูกใช้มาตรการ” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวต่อว่า มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2561 มองว่าจะขยายตัวได้ 8% แน่นอน แต่หากจะผลักดันให้เติบโตได้ 9% มูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือต้องได้เฉลี่ยเดือนละ 22,000 ล้านเหรียญฯ หากจะผลักดันให้ได้ 10% ต้องเฉลี่ยเดือนละ 22,400 ล้านเหรียญฯ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดยังคงเป็นเรื่องสงครามการค้า เพราะเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกังวลกับการออกมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯที่ไม่สามารถคาดเดา ทำให้ประเทศต่างๆ ไม่รู้จะป้องกันความเสี่ยงอย่างไร อย่างไรก็ตาม วันที่ 7 ส.ค.นี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างจะประชุมร่วมกับผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมสำคัญ เพื่อประเมินสถานการณ์ส่งออกของไทยอีกครั้ง ก่อนกำหนดเป้าหมายการขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลัง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ