ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย! "วิรไท-บัณทิต" เห็นพ้องเศรษฐกิจไทยแข็งปึ้ก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย! "วิรไท-บัณทิต" เห็นพ้องเศรษฐกิจไทยแข็งปึ้ก

Date Time: 22 มิ.ย. 2561 09:10 น.

Summary

  • “วิรไท-บัณทิต” มองตรงกันไทยยังไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เหตุเงิน เฟ้อยังไม่เข้าเป้า ยันเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง รับมือเงินไหลออกได้ ขณะที่ห่วงสงคราม การค้าโลกกระทบส่งออกไทย

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

“วิรไท-บัณทิต” มองตรงกันไทยยังไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เหตุเงิน เฟ้อยังไม่เข้าเป้า ยันเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง รับมือเงินไหลออกได้ ขณะที่ห่วงสงคราม การค้าโลกกระทบส่งออกไทย แนะผู้ส่งออกป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ป้องกันค่าเงินบาทผันผวน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยหลังปาฐกถาในงานประชุมประจำปีของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ว่า เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานแข็งแกร่งที่สามารถเป็นกันชนรองรับกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ เพื่อหันมาลงทุนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ภาวะปกติ โดยในด้านเสถียรภาพต่างประเทศ ไทยมีทุน สำรองเงินตราต่างประเทศในระดับที่สูงหนี้ต่างประเทศ ระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำเพียง 3.5 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ซึ่งปีนี้คาดว่าจะเกินดุล 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่สัดส่วนการถือครองพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติในพันธบัตรของไทยในขณะนี้อยู่ที่ต่ำกว่า 10% ของตราสารหนี้รวม ซึ่งแตกต่างกับบางประเทศในภูมิภาคนี้ที่มีสัดส่วนการถือครองพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติสูงถึง 30-40% การเกินดุลบัญชี เดินสะพัดสูง ทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งพอ

“เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งแตกต่างจากประเทศเกิดใหม่ที่เสถียรภาพต่างประเทศไม่ดี โดยเฉพาะกลุ่มละตินอเมริกาที่มีการก่อหนี้สูง ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง มีทุนสำรองต่ำ พึ่งพิงเงินตราต่างประเทศสูง ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น เมื่อประเทศเศรษฐกิจหลักปรับขึ้นดอกเบี้ย นักลงทุนทั่วโลกจึงเกิดความกังวลเทขายสินทรัพย์ที่ลงทุน ส่งผลต่อความสามารถชำระหนี้ของภาครัฐและเอกชน เห็นได้ว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่เดือน เม.ย.บางประเทศค่าเงินอ่อนค่าลงมากกว่า 15-20% บางประเทศอ่อนค่าลงถึง 30%”

นายวิรไทกล่าวยอมรับว่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว เป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า และกระแสเงินทุนต่างชาติไหลออก แต่เงินบาทยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทย ตลาดเงิน ตลาดทุนโลก และใกล้เคียงกับประเทศที่เศรษฐกิจในลักษณะเดียวกัน โดยการดูแลค่าเงินบาทเราใช้นโยบายลอยตัว เวลาเกิดการเปลี่ยนแปลงจากนอกประเทศก็กระทบ แต่ไม่ได้กระทบต่อไทยประเทศเดียว กระทบต่อเงินสกุลหลักๆทั่วโลกด้วย สำหรับเงินทุนที่ไหลออก เป็นสิ่งที่คาดไว้อยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามแม้เงินบาทจะอ่อนค่า ผู้ส่งออกก็ไม่ควรชะล่าใจ เพราะเงินบาทยังมีความผันผวนจากปัจจัยต่างประเทศด้วย ดังนั้นผู้ส่งออกต้องประกันความเสี่ยงต่อเนื่อง ส่วนปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด แม้ไทยจะไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรง แต่สินค้าไทย เช่น อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเทคโนโลยี อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลก ดังนั้น หากมีการกีดกันทางการค้าด้วยการขึ้นภาษี ประเทศคู่ค้าของไทยก็จะนำเข้าสินค้าไทยลดลงด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งถือเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังมองการส่งออกปีนี้ขยายตัวดี โดยเฉพาะในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา มีสัญญาณการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบดีขึ้นมาก ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน ปรับการส่งออกปีนี้โต 9%

“เรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนั้น ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อยังไม่เข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ทางการกำหนดไว้ ทำให้ยังไม่มีแรงกดดันให้ต้องเร่งรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังเติบโตแบบกระจุกตัว คงต้องรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบกระจายตัวก่อน การทำนโยบายการเงินต้องมุ่งตอบโจทย์เศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก เพราะเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยง จึงยังไม่ต้องรีบปรับขึ้นดอกเบี้ย”

ด้านนายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และอดีตรองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป เพราะในที่สุดคงไม่สามารถต้านแนว โน้มดอกเบี้ยขาขึ้นของทั่วโลกได้ และธนาคารกลางประเทศในเอเชียหลายแห่งเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวดี อัตราเงินเฟ้อยังต่ำ กนง.จึงยังไม่จำเป็นต้องรีบปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเหมือนกับประเทศอื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่าเงินบาทวันที่ 21 มิ.ย. ปิดตลาดที่ 32.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 60 และยังอ่อนค่าลงจากวันก่อนที่ปิดตลาดที่ 32.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการเคลื่อนไหวตลอดทั้งวันอ่อนค่าสุดที่ 33.01 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสาเหตุของการอ่อนค่าของเงินบาท เกิดจากแรงเทขายเงินบาทออกมาจำนวนมาก หลังธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าเงินบาทที่อ่อนค่ายังไม่น่ากังวล.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ