เร่งปิดจ๊อบ 15 โครงการปลายปี นายกฯ จี้ปฏิรูปที่คนต้องการก่อน-ลดเหลื่อมล้ำ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เร่งปิดจ๊อบ 15 โครงการปลายปี นายกฯ จี้ปฏิรูปที่คนต้องการก่อน-ลดเหลื่อมล้ำ

Date Time: 15 มิ.ย. 2561 06:45 น.

Summary

  • “กอบศักดิ์” รับลูกนายกฯ 8 เดือนที่เหลือเร่งปิดจ๊อบ 15 โครงการ ที่จะทำให้ประชาชนฐานรากมีความเข้มแข็งขึ้นก่อนปีใหม่ เพื่อมอบเป็นของขวัญคนไทย ชี้ 50 ปีที่ผ่านมาประเทศไทย...

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

“กอบศักดิ์” รับลูกนายกฯ 8 เดือนที่เหลือเร่งปิดจ๊อบ 15 โครงการ ที่จะทำให้ประชาชนฐานรากมีความเข้มแข็งขึ้นก่อนปีใหม่ เพื่อมอบเป็นของขวัญคนไทย ชี้ 50 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยใช้โมเดลพัฒนาให้มีความเข้มแข็งจากด้านบนก่อน จนทำให้เป็นโรคตานขโมย ชนบทอ่อนแอทุกหย่อมหญ้า เหตุความเหลื่อมล้ำสูง เตรียมให้สศช.ผุดสำนักงานแก้ความเหลื่อมล้ำเป็นการเฉพาะ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เปิดเผยในงาน “MEET the PRESS” หัวข้อ “ปฏิรูปแนวใหม่ ร่วมคิดร่วมใจ สร้างไทยไปด้วยกัน” ว่า 8 เดือนที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้ ต้องการให้เกิดการจุดไฟสร้างประเทศไทยก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในเรื่องการปฏิรูปที่ประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งการปฏิรูปต้องทำต่อเนื่อง และต้องเป็นการเปลี่ยน แปลงครั้งใหญ่ เพราะไม่เช่นนั้นปัญหาเหมือนในอดีต อาจกลับมาใหม่ได้

สำหรับการเดินหน้าปฏิรูปประเทศในช่วง 8 เดือนสุดท้ายของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้กำชับว่า ให้ปฏิรูปในเรื่องที่ประชาชนต้องการก่อน ซึ่งมี 6 ด้าน คือ แก้ปัญหาความยากจน, ลดความเหลื่อมล้ำ, แก้โกง, การมีส่วนร่วมในประชาธิปไตย, การปฏิรูปราชการ และการสร้างอนาคตเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ โดยจะมี 15 โครงการที่ดำเนินการได้เสร็จภายใน 6 เดือน และมอบเป็นของขวัญปีใหม่ที่จับต้องได้ให้ประชาชน คือ กองทุนพัฒนาผู้นำชุมชน, สภาประชารัฐ, พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจชุมชน, พ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน, พ.ร.บ.วิสาหกิจเพื่อสังคม, ธนาคารต้นไม้, ธนาคารปูม้า, พ.ร.บ.ป่าชุมชน, ไม้มีค่าตัดได้, โครงการ 1 ไร่ 100,000 บาท, กองทุนยุติธรรม, ธนาคารที่ดิน, พ.ร.บ.ขายฝาก, โครงการผู้ป่วยติดเตียง และโครงการยาเพื่อประชาชน ขณะนี้ถือว่าประสบความสำเร็จไปแล้ว 60% เหลืออีก 40% เท่านั้นที่ต้องดำเนินการ คาดว่าใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน

“ที่ผ่านมาปัญหาของประเทศไทยคือ ใช้โมเดลพัฒนาให้มีความเข้มแข็งจากด้านบนก่อน แล้วค่อยๆไหลลงมาข้างล่าง ปรากฏว่าทำมา 50 ปี หัวขบวนข้างบนไปโลด แต่ข้างล่างไปได้อย่างช้าๆ ทำให้ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยมีเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยเป็นโรคตานขโมยโดยที่ไม่รู้ตัว หัวโต พุงโร ก้นปอด แขนขาลีบ กรุงเทพฯเติบโต แต่ชนบทขาลีบ ปฏิรูปมา 50 ปี ชนบทยังอ่อนแอทุกหย่อมหญ้า เหลือแต่คนแก่กับเด็ก และมีแต่หนี้สิน นับวันยิ่งระส่ำ ที่ดินก็หลุดมือไปเรื่อยๆ รัฐบาลชุดนี้จึงตั้งใจเข้ามาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก ซึ่งทั้ง 15 โครงการจะทำให้ประชาชนฐานรากมีความเข้มแข็งขึ้น”

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า สำหรับแนวทางการปฏิรูปประเทศ ด้านการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หลังนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เข้ามาทำหน้าที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะให้จัดตั้งสำนักงานในสศช. เพื่อมาดูปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นการเฉพาะ โดยเป็นหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับสำนักงบประมาณ ซึ่งปัจจุบัน สศช.มีรายงานเรื่องภาวะสังคมเป็นประจำทุกไตรมาสอยู่แล้ว แต่ยังขาดอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะการประเมินวิเคราะห์โครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้วว่ามีประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง ตอบโจทย์ความเหลื่อม ล้ำได้หรือไม่ รวมทั้งประเมินว่างบประมาณที่จัดสรรลงไปในพื้นที่มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการทำงบประมาณในปีถัดไป โดยจะนำข้อมูลมาใช้ปรับปรุงให้การใช้งบประมาณแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้มากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนการปฏิรูปจะตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 5 คณะ เพื่อขับเคลื่อนการทำงาน ประกอบด้วย 1.อนุกรรมการประสานงาน 2.อนุกรรมการปฏิรูปกระทรวง ที่เร่งดำเนินการปฏิรูปขณะนี้ เช่น กระทรวงอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปรับให้เดินหน้าไปดีขึ้น รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 3.อนุกรรมการด้านกฎหมาย 4.อนุกรรมการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ มีส่วนร่วมลงสู่ประชาชน โดยจะมีช่องทางสื่อสารประชาชน ซึ่งรายการเดินหน้าประเทศไทยทุกวันเสาร์ตั้งแต่เดือน ก.ค.จะเป็นรายการพิเศษ หัวข้อ “ร่วมคิด ร่วมใจสร้างไทยไปด้วยกัน” ว่าด้วยเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ และ 5.อนุกรรมการสื่อมวลชน เพื่อร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมและมาตรฐานสื่อมวลชน

นอกจากนี้ จะมีโครงการการปฏิรูปกฎหมายหรือกิโยตีนกฎหมายที่ล้าสมัย เพื่อสะสางกฎหมายให้ทันต่อโลกโดยจะเริ่มในเดือนหน้า และจัดตั้งสำนักงานขึ้นมาดำเนินการเรื่องนี้ โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย เป็นผู้ดำเนินการ โดยจะมีระบบฟาสต์แทร็ก เพื่อให้การแก้กฎหมายในส่วนที่เร่งด่วนรวดเร็วขึ้น สำหรับช่องทางการเสนอความคิดเห็น เรื่องการปฏิรูปจะเปิดกว้างมากขึ้น โดยให้ประชาชน เยาวชนเสนอแนวคิดการปฏิรูป ผ่านการติดแฮชแท็ก #Reform Together #สร้างไทยไปด้วยกัน ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก เป็นต้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ