พลังงานทางเลือกได้เฮ รัฐรับซื้อ..คุณได้ไปต่อ!

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

พลังงานทางเลือกได้เฮ รัฐรับซื้อ..คุณได้ไปต่อ!

Date Time: 15 พ.ค. 2561 05:01 น.

Summary

  • “กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” จัดตั้งขึ้นในสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

“กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” จัดตั้งขึ้นในสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550

“เงิน”...มาจากไหน? คำตอบก็คือ เมื่อมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ผู้ผลิตไฟฟ้าจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนนับตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้า แบ่งเป็นในช่วงระหว่างการก่อสร้าง เจ้าของโรงไฟฟ้าจะเริ่มจ่ายเงินเข้ากองทุน ตามกำลังผลิตติดตั้งในอัตรา 50,000 บาทต่อเมกะวัตต์ต่อปี หรือไม่ต่ำกว่า 500,000 บาทต่อปี

สมมติว่า โรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งมีกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนในช่วงก่อสร้างปีละ 50 ล้านบาท

ต่อมา...เมื่อโรงไฟฟ้าสร้างเสร็จ เริ่มดำเนินการจ่ายไฟแล้ว โรงไฟฟ้าจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนทุกเดือน โดยมีอัตราแตกต่างกันตามเชื้อเพลิง และจ่ายตามจำนวนหน่วยที่ผลิตได้จริง

โรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ จ่ายเข้ากองทุน 1 สตางค์ต่อหน่วย...ผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตา, ดีเซล จ่าย 1.5 สตางค์ต่อหน่วย...ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน, ลิกไนต์ จ่าย 2 สตางค์ต่อหน่วย

โรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ลมและแสงอาทิตย์ จ่าย 1 สตางค์ต่อหน่วย...จากชีวมวล กาก เศษวัสดุเหลือใช้ ขยะชุมชน จ่าย 1 สตางค์ต่อหน่วย และจากพลังงานน้ำ จ่าย 2 สตางค์ต่อหน่วย

พันธกิจสำคัญ “ชดเชย” และ “อุดหนุน” ให้มีการบริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างทั่วถึง เป็นธรรม พัฒนา ฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ส่งเสริมประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก...มีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า

ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดเงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการโดยต้องมีการแยกบัญชีตามกิจการที่ใช้จ่ายอย่างชัดเจน ดังนี้...

มาตรา 97 (1) เพื่อการชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งได้ให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส หรือเพื่อให้มีการบริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง หรือเพื่อส่งเสริมนโยบายในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค มาตรา 97 (2) เพื่อการชดเชยผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งต้องจ่ายอัตราค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจากการที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า กระทำการฝ่าฝืนตามมาตรา 87 วรรคสอง

มาตรา 97 (3) เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า

มาตรา 97 (4) เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย มาตรา 97 (5) เพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า มาตรา 97 (6) เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน

ที่ผ่านมา...แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการใช้เงินกองทุนในโครงการที่ไม่เหมาะสม ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนเท่าที่ควร แต่ กกพ. ก็เข้าไปติดตามปัญหา โดยเน้นย้ำวิสัยทัศน์ที่เป็นหัวใจสำคัญ เป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาไฟฟ้าให้ทั่วถึง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม เสริมสร้างการยอมรับ...มีส่วนร่วมพัฒนาที่ยั่งยืน

ข้อมูลปีงบประมาณ 2555-2561 อนุมัติแผนงานโครงการชุมชนรอบโรงไฟฟ้า 40,822 โครงการ มูลค่า 15,303.35 ล้านบาท เพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้แก่ การส่งเสริมคุณภาพชีวิต สุขภาพ สุขภาวะ การพัฒนา อาชีพ...เศรษฐกิจชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น อนุรักษ์...ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

อาทิ กองทุนพันธุ์ข้าวเพื่อชุมชน จ.ชัยภูมิ, โครงการโรงสีข้าวชุมชน บ้านซับหวาย จังหวัดนครราชสีมา, โครงการ Smart Classroom

ห้องเรียนอัจฉริยะ จังหวัดลำปาง, โครงการคลินิกทันตกรรมมาตรฐาน เคลื่อนที่ (รถบัส) จังหวัดตาก, โครงการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ กองทุนแม่ของแผ่นดิน ตำบลแสนสุข จังหวัดชลบุรี

โครงการเพิ่มศักยภาพนักเรียนชั้น ม.6 ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย และโครงการถนนใต้ร่มพระบารมี จังหวัดระยอง

ส่องไฟไปที่ มาตรา 97 (4) เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนฯ ผู้ที่คิดจะผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน น้ำ ลม แดด...แสงอาทิตย์ น่าจะฝากความหวังไว้กับ “กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” ได้ไม่มากก็น้อย

เพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ได้มีไฟฟ้าใช้กันอย่างทั่วถึงในทุกหย่อมหญ้า สานฝัน...“พลังงาน ชุมชน สร้างอนาคตพลังงานไทยอย่างยั่งยืน” ส่งเสริมการพัฒนาโครงการต้นแบบด้าน “พลังงานหมุนเวียน”

ในเมื่อคนในเมืองใช้ไฟฟ้ามากก็จัดโครงการสนับสนุนส่งเสริมให้แต่ละบ้านติดตั้ง “แผงโซลาร์เซลล์” บนหลังคารับแสงแดด แล้วเข้าเครื่องแปลงไฟอินเวอร์เตอร์ ผสมไฟจากแผงโซลาร์ฯกับไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ

วันไหนเมฆมาก...ไฟจากการไฟฟ้าเข้าเครื่องอินเวอร์เตอร์มาก วันไหนแสงแดดมาก...เราผลิตพลังงานได้เยอะ ไฟจากการไฟฟ้าฯก็จะเข้ามาน้อย...เท่ากับประหยัดเงิน จ่ายค่าไฟน้อยลงสบายกระเป๋า

คิดกันเล่นๆให้ลองนึกภาพตามกันดู...ถ้าอาคารบ้านเรือนทั่วทั้งกรุงเทพฯมีหลังคาโซลาร์เซลล์เต็มพรึบไปหมด นอกจากจะดึงพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้า ช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้แล้ว ยังจะช่วยสะท้อนรังสีความร้อนกลับไปสู่บรรยากาศ ลดอุณหภูมิภายในบ้าน อาคารได้อีกต่างหาก

เมื่อไฟฟ้า “พลังงานทางเลือก” ถูกหยิบ มาใช้ประโยชน์...ใช้กันมากๆเข้าเป็นจำนวนมหาศาลแบบมือถือยุคก่อนๆเครื่องละเป็นหมื่นๆก็ลดลงเหลือหลักพันได้ ซื้อมากผลิตมาก “ต้นทุน”...ก็จะยิ่งถูก ลดการพึ่งพาน้ำมัน ถ่านหิน...ไม่ต้องทุรนทุรายดึงดันจะนำเข้ามาเพื่อผลิตไฟฟ้าให้ได้ ด้วยอ้างเหตุความมั่นคงด้านพลังงานประเทศชาติ

ประเด็นร้อนล่าสุดที่เพิ่งคลี่คลาย กรณีนโยบายภาครัฐ กระทรวงพลังงาน? จะไม่รับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ ก็เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง มีข่าวว่า...รัฐบาลยังมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน แต่ต้องทบทวนสัดส่วน...ราคารับซื้อ เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับผู้ผลิต ประชาชนมากขึ้น

ยืนยัน “นโยบายพลังงาน”...ให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านพลังงาน รวมทั้งส่งเสริม “พลังงานหมุนเวียน” และ “พลังงานทดแทน” ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการไฟฟ้าอยู่ที่ 32,000-35,000 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคกลาง 60% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ

ขณะที่กรุงเทพฯและปริมณฑลต้องการไฟฟ้าอยู่ที่ 50% ส่วนภาคอื่นอยู่ที่ 10-11%

กระทรวงพลังงานกำลังทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2018) จะเสร็จในเดือนกันยายนนี้ จากนั้นจะนำเสนอ ครม. โดยจะเน้นจัดหาพลังงานให้พอกับความต้องการโดยคำนึงถึงความต้องการใช้ไฟฟ้ารายภูมิภาค เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลง และไม่ทำให้ราคาไฟฟ้าเป็นภาระกับประชาชน

ย้ำว่า...บ้านเรามีกำลังผลิตไฟฟ้า 42,000 เมกะวัตต์ มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 36,000 เมกะวัตต์ ถือว่าพอที่จะรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องพิจารณาปัจจัยอื่นด้วย เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจ

“กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” ฝันให้ไกลแล้วต้องไปให้ถึง เพื่อจะกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า...“ที่ใดมีโรงไฟฟ้า ที่นั่นต้องมีความเจริญ” เพราะที่นั่นมีกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และที่สำคัญต้องเจริญแบบรักษาสิ่งแวดล้อม

ช่วยเหลือพัฒนา คืนความสุขให้ “ชุมชน” “ท้องถิ่น” รอบโรงไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม...เงินที่เราจ่ายค่าไฟไป ส่วนหนึ่งเข้ากองทุน กองทุนก็เอาเงินให้ชุมชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ปิดท้ายด้วยคำถามที่ว่า...มีโรงไฟฟ้าแล้วประชาชนได้อะไร? ก็เท่ากับ...มี “กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” เท่ากับ...มีการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเจริญของท้องถิ่น สวนทางแนวคิดเดิมๆ ตามสำนวนที่หลายคนคุ้นหูว่า...“มีไฟฟ้าก็ดี แต่อย่ามาสร้างบ้านฉัน”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ