นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยว่า การเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกชในอ่าวไทยในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้นำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) มาใช้กับแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อ่าวไทยแทนระบบสัมปทานที่ใช้มากว่า 30 ปี โดยในระบบพีเอสซี ภาครัฐมีข้อดีคือ ภาครัฐจะมีส่วนร่วมในการอนุมัติแผนงาน งบลงทุน ตลอดจนการดำเนินงานต่างๆร่วมกับผู้ได้รับสัญญา ซึ่งข้อดีคือภาครัฐสามารถเข้าไปกำกับดูแลเรื่องการลงทุนได้ชัดเจน
สำหรับด้านผลประโยชน์ที่รัฐบาลจะได้รับจากระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตดังกล่าวคือ ภาครัฐจะได้รับค่าภาคหลวง 10% ของผลผลิตรวมของปิโตรเลียม ส่วนแบ่งปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไร ไม่น้อยกว่า 50% และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 20% ของกำไรสุทธิ ขณะที่ในระบบสัมปทาน ไทยแลนด์ III ภาครัฐจะได้รับค่าภาคหลวงเป็นขั้นบันได 5-15% ค่าภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 50% และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษอื่นๆในอัตรา 0-75%
ทั้งนี้ การประมูลภายใต้ระบบพีเอสซีดังกล่าว ชธ.มีความมั่นใจ ว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ ทั้งในด้านการมีก๊าซ ธรรมชาติจากแหล่งพลังงานในประเทศใช้อย่างต่อเนื่อง และลดความเสี่ยงเรื่องผลกระทบจากค่าไฟฟ้าแพงของผู้ใช้ไฟฟ้าอีกด้วย.