ยื้อยุดนโยบายไฟฟ้าหมุนเวียน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ยื้อยุดนโยบายไฟฟ้าหมุนเวียน

Date Time: 9 พ.ค. 2561 08:25 น.

Summary

  • นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้เข้าหารือกับนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เพื่อขอความชัดเจนถึงนโยบายชะลอการรับซื้อไฟฟ้า...

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้เข้าหารือกับนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เพื่อขอความชัดเจนถึงนโยบายชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนออกไป 5 ปี นับจากนี้ เนื่องจากภายหลังที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายดังกล่าวออกมาได้ส่งผลให้เกิดความสับสนจากผู้ประกอบการ ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และเกรงว่าหากปล่อยไว้จะกระทบต่อการลงทุนใหม่ๆ

“ส.อ.ท.ได้ชี้แจงให้ รมว.พลังงานทราบว่า ธุรกิจพลังงานทดแทนส่วนใหญ่ก็เป็นขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) และเกิดขึ้นจากการส่งเสริมนโยบายของภาครัฐในอดีต ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP2015) ที่กำหนดรับซื้อไฟฟ้าเมื่อสิ้นสุดแผนไว้ทั้งสิ้นในปี 2579 รวม 16,778 เมกะวัตต์ การที่กระทรวงพลังงานจะปรับนโยบายเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ก็เข้าใจได้ แต่ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป”

นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังได้หารือถึงนโยบายการเปิดประมูลแหล่ง ก๊าซธรรมชาติเอราวัณ-บงกช ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-2566 ซึ่ง ส.อ.ท.ต้องการให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการหารือนายศิริได้กล่าวยืนยันกับ ส.อ.ท.ว่าจะไม่ปิดกั้นการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่ราคาค่าไฟฟ้าที่เอกชนเสนอขายต้องเป็นราคาเท่ากับหรือต่ำกว่าราคาขายส่งที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อในขณะนี้ที่ 2.44 บาทต่อหน่วย โดยได้ยกตัวอย่างโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) ที่ทำราคาได้ต่ำ โดย ส.อ.ท.ได้ชี้แจงว่า ภาครัฐต้องเข้าใจว่าเชื้อเพลิงแต่ละประเภทมีข้อจำกัด จะให้ต่ำมากคงไม่ใช่ เหมือนมวยชกคนละรุ่น ส.อ.ท.จึงได้เสนอให้รับซื้อแยกแต่ละประเภท ต่างกันออกไป เพราะไม่เช่นนั้นจะมีเพียงแผงโซลาร์เท่านั้นที่พอจะแข่งขันในราคานี้ได้ โดยสำหรับผลกระทบระยะสั้น พบว่าราคาหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนได้ลดลง บางแห่งลด 50% และในระยะกลางและยาว จะกระทบต่อการลงทุนใหม่ทั้งหมด เนื่องจากสถาบันการเงินเริ่มไม่ปล่อยกู้และนักลงทุนต่างชาติอาจถอนการลงทุนจากไทย ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีเม็ดเงินลงทุนของพลังงานทดแทนทั้งระบบประมาณ 450,000 ล้านบาท โดยจะมีการลงทุนใหม่เฉลี่ยปีละ 25,000 ล้านบาท หรือประมาณ 500 เมกะวัตต์.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ