นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจ การเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีนี้คาดว่าขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา ที่เติบโตได้ในระดับ 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่งออกขยายตัว 9.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นแรงส่งให้เกิดการขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การส่งออกเดือน มี.ค.ชะลอตัวลงเล็กน้อย 0.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่องเช่นกัน โดยไตรมาสแรกมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 10.6 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 15.4% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่เต็มที่ แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสแรกจะขยายตัว 3.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่การบริโภคเดือน มี.ค.ดีขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้าเพียง 0.2% มาจากผู้มีรายได้ปานกลางและผู้มีรายได้สูง แต่กำลังซื้อโดยรวมยังไม่เข้มแข็ง สะท้อนจากรายได้ครัวเรือนภาคเกษตรกรรมไตรมาสแรกหดตัว 4.8% และรายได้ของเกษตรกรเดือน มี.ค.หดตัว 3.8% ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว ไตรมาสแรกขยายตัว 3.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เดือน มี.ค.ขยายตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.3% การลงทุนภาคเอกชนยังไม่ดีนัก เดือน มี.ค.ติดลบ 5%
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 คาดว่ายังคงจะเห็นการขยายตัวต่อเนื่องและเห็นการกระจายตัวของรายได้ และการขยายตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ จะมีบทบาทมากขึ้น หลังจากไตรมาสแรกการลงทุนภาครัฐแผ่วลงตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของกรมทางหลวงลดลง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามยังคงเป็นปัจจัยต่างประเทศ ทั้งนโยบายกีดกันทางการค้า และความขัดแย้งระหว่างประเทศ แม้จะมีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่ยังไม่น่าไว้วางใจมากนัก
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือน มี.ค. มีอัตราการขยายตัว 2.62% อยู่ที่ระดับ 128.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 125.51 เป็นการขยายตัวต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 11 ส่งผลให้เอ็มพีไอไตรมาส 1 ปีนี้ ขยายตัว 3.93%.