“พื้นที่เสียบปลั๊ก” รับสังคมออนไลน์...ไลฟ์สไตล์ติดจอ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“พื้นที่เสียบปลั๊ก” รับสังคมออนไลน์...ไลฟ์สไตล์ติดจอ

Date Time: 18 เม.ย. 2561 05:01 น.

Summary

  • ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสารยุคดิจิทัล ทำให้พฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

Latest

ที่ยืนของ “ธุรกิจไทย” แคบลงทุกที ไทยขาดดุล “จีน” สูงขึ้นเรื่อยๆ นำเข้าสินค้า ผ่าน Shopee - Lazada

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสารยุคดิจิทัล ทำให้พฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

ข้อมูลข่าวสารและเครือข่ายสังคมออนไลน์เข้ามาอยู่ในวิถีชีวิต หรือเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินชีวิตของผู้คนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ทั้งในการทำงาน เรียนหนังสือ กวดวิชา หาข้อมูล ดูหนัง ฟังเพลง เล่นกีฬา ทานอาหาร
เก็บเงิน ลงทุน ช็อปปิ้ง และท่องเที่ยว ฯลฯ

ขณะที่ข้อมูลล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เผยผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของคนทั่วโลก ซึ่งพบว่าคนไทยครองแชมป์ใช้เวลาเล่นอินเตอร์เน็ตมากที่สุดในโลก เฉลี่ยถึงวันละ 9 ชั่วโมง 38 นาที คนไทยยังครองแชมป์ใช้เวลาเล่นอินเตอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือนานที่สุดในโลก เฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมง 56 นาที

เหตุที่คนไทยใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตยาวนานที่สุด ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการเสพติดโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก (FB) และอินสตาแกรม (IG) รวมถึงความนิยมในการรับชมวีดิโอออนไลน์ ที่เริ่มมีแนวโน้มแทนที่การรับชมโทรทัศน์
ผลสำรวจยังชี้ว่า ในแต่ละวัน คนไทยใช้เวลากับโซเชียลมีเดียราว 3 ชั่วโมง 10 นาที มากเป็นอันดับ 4 ของโลก ขณะที่จำนวน

ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในประเทศใหญ่ๆอย่างสหรัฐฯและแคนาดา กำลังลดลง แต่ในไทยกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 60 จำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในไทยเพิ่มขึ้นจาก 47 ล้านคน เป็น 48 ล้านคน ในจำนวนนี้ 32 ล้านคน มีพฤติกรรมใช้เฟซบุ๊กเป็นประจำทุกวัน

ขณะที่กรุงเทพมหานคร ติดอันดับเมืองที่มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเป็นประจำมากที่สุดในโลก คือราว 22 ล้านคน ส่วนอัตราการเข้าถึง IG ในกรุงเทพฯก็สูงไม่แพ้กัน อยู่ที่ 19% เทียบกับค่าเฉลี่ยของทั้งโลกซึ่งอยู่ที่ประมาณ 11%

โดยประเทศไทยมีประชากร 69.11 ล้านคน มีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ต 57 ล้านคน และมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือสูงถึง 93.61 ล้านเลขหมาย มากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั้งหมด มีผู้ใช้ Social Media เป็นประจำผ่าน Smart Device มากกว่า 46 ล้านคน!!

จึงไม่ต้องแปลกใจที่จะเห็นร้านค้า คาเฟ่ ฟาสต์ฟู้ด ร้านอาหารแทบทุกหนแห่ง แหล่งแฮงก์เอาต์ ทุกที่ต้องมีฟรีอินเตอร์เน็ต wifi ไว้บริการลูกค้า และที่สำคัญตอนนี้ถ้าจะให้ “อินเทรนด์” ได้ใจต้องมี “พื้นที่เสียบปลั๊ก” ไว้ชาร์จไฟแบตเตอรี่มือถือ และโน้ตบุ๊ก เพื่อไม่ให้วิถีออนไลน์ต้องสะดุดหยุดชะงัก!!

ไม่เว้นแม้กระทั่งร้านกาแฟแบรนด์ดังอย่าง “สตาร์บัคส์” หรือร้านกาแฟเล็กๆที่แทรกตัวอยู่ตามซอกซอยหัวมุมถนน หรือในห้างทันสมัย เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการ จะนั่งแช่นั่งนานแค่ไหนก็ได้!!

ที่สร้างความฮือฮาที่สุดก็คือร้าน Too Fast To Sleep ที่เปิดพื้นที่ให้นิสิต นักศึกษามาอ่านหนังสือทำรายงาน หรือจะประชุมงานกันได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมฟรี wifi และพื้นที่เสียบปลั๊กแบบไม่บังคับว่าต้องสั่งน้ำสั่งอาหารเลยก็ยังได้!!

การปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปนี้สอดรับกับวิถีการทำงานของคนเจนวาย (Y) และเจนแซด (Z) ที่ใช้ชีวิตติดหน้าจอ ไม่ชอบถูกบังคับให้อยู่ในกรอบ ไม่ต้องการอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ มีความมั่นใจในตัวเอง ต้องการทำงานอิสระ เพราะงานประจำอยู่ได้ไม่ทน ส่วนใหญ่จึงออกมาประกอบอาชีพอิสระ เป็นเอาต์ซอร์ซ ฟรีแลนซ์ หรือรับงานเป็นจ๊อบๆ ทำงานได้ทุกที่ บ้างก็มุ่งมั่นตามฝันสร้างธุรกิจเอง จึงเกิดธุรกิจเอสเอ็มอี และสตาร์ตอัพขึ้นมากมาย

พื้นที่ทำงานของคนเจนนี้ จึงกระจายตัวอยู่ตามซอกมุมของร้านกาแฟต่างๆและเติบโตไปพร้อมๆกับธุรกิจ Co–working Space (สถานที่ทำงานที่ใช้ร่วมกัน) ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด โดยเฉพาะตามอาคารที่ตั้งอยู่ในเส้นทางรถไฟฟ้า

เพื่อรองรับเหล่าฟรีแลนซ์ สตาร์ตอัพคนเจน Y และเจน Z ที่เติบโตขึ้นมา หรือผู้ทำงานนอกออฟฟิศ รวมถึงการประชุม สัมมนา สอนพิเศษ ติวออนไลน์ โดยนอกจากจะบริการพื้นที่ทำงานที่มี wifi และปลั๊กไฟแล้ว หลายแห่งยังมีบริการห้องประชุมจอโปรเจกเตอร์พรินเตอร์ ที่ถ่ายเอกสาร พื้นที่สันทนาการ รวมทั้งขนมเครื่องดื่ม ชากาแฟไว้รองรับอีกด้วย

พื้นที่ของคนในสังคมออนไลน์...ไลฟ์สไตล์ติดจอ จึงอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ ขอเพียงแค่มีสัญญาณ wifi และพื้นที่เสียบปลั๊ก เพราะแม้สัญญาณอินเตอร์เน็ตจะแรงข้ามภพข้ามชาติแค่ไหน แต่หากแบตหมดไร้ที่เสียบปลั๊กแล้ว แม่นายทั้งหลายก็แทบจะขาดใจไปเสียตั้งแต่ชาตินี้แล้วออเจ้า!


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ