สังคมคนชรา กดรายได้รัฐวูบ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สังคมคนชรา กดรายได้รัฐวูบ

Date Time: 29 มี.ค. 2561 09:05 น.

Summary

  • กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างประเมินภาพรวมโครงสร้างประชากรในอนาคตอีก 30-40 ปี ข้างหน้า ว่า ประชากรไทยจะมีสัดส่วนอายุในช่วงใดและจำนวนเท่าใด เพื่อนำมาประเมิน...

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างประเมินภาพรวมโครงสร้างประชากรในอนาคตอีก 30-40 ปี ข้างหน้า ว่า ประชากรไทยจะมีสัดส่วนอายุในช่วงใดและจำนวนเท่าใด เพื่อนำมาประเมินถึงความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล เนื่องจากไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว ประเด็นนี้จึงเข้ามากระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล เนื่องจากประชากรในวัยทำงานจำนวนลดลงทำให้ฐานภาษีลดลงตามไปด้วย

กระทรวงการคลังจึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องดังกล่าว ขณะเดียวกันยังได้ศึกษาถึงโครงสร้างภาษีที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากภาษีที่จะจัดเก็บจากเงินได้บุคคลธรรมดา อาจลดลงตามโครงสร้างวัยแรงงาน ดังนั้น ฐานภาษีที่จะมีการจัดเก็บจะต้องปรับเปลี่ยนเป็นฐานภาษีทรัพย์สินและฐานภาษีจากการบริโภค ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็พยายามผลักดันให้ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติิ (สนช.) ส่วนภาษีเพื่อการบริโภคนั้น ทางกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาเก็บภาษีประเภทใหม่ๆ

นอกจากนี้ เรื่องการออมเงินของประชาชนก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับโครงสร้างประชากรและการลงทุนภาครัฐ เพราะปัจจุบันเงินออมวัยเกษียณของคนไทยอยู่ในระดับ 2.5 ล้านล้านบาท ถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ไม่สอดคล้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตและการออมของคนสูงวัย โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบมีการออมเพื่อวัยเกษียณน้อยมาก โดยแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน มีการออมเพื่อวัยเกษียณผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพียง 500,000 คนเท่านั้น ขณะที่คนเหล่านี้ก็จะอายุมากขึ้น ถ้าไม่สนับสนุนให้มีการออมเงินต่อไป คนเหล่านี้ก็จะเป็นภาระของรัฐบาลในอนาคต

“กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายว่า ผู้สูงอายุควรมีเงินใช้แต่ละเดือนไม่น้อยกว่า 50% ของรายได้ต่อเดือนก่อนเกษียณ โดยในกลุ่มแรงงานนอกระบบยังมีการออมน้อยมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มข้าราชการที่มีระบบการออมภาคบังคับ คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ทำให้ผู้เป็นข้าราชการมีเงินออมไว้ใช้ในแต่ละเดือนหลังเกษียณ เฉลี่ย 60-70% ของรายได้ต่อเดือนก่อนเกษียณ ส่วนแรงงานกลุ่มอื่นๆ มีเงินออมไว้ใช้ในแต่ละเดือนหลังเกษียณเฉลี่ยเพียง 20% ของรายได้ต่อเดือนก่อนเกษียณ”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ