ผู้ผลิตเหล็กไทย เร่งประสานผู้นำเข้าสหรัฐฯ ยื่นเว้นเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจากไทยเป็นรายพิกัด ทั้งท่อ เหล็กรีดเย็น และสเตนเลส หลังพาณิชย์สหรัฐฯ ออกหลักเกณฑ์ให้ยื่นสิทธิ์ขอยกเว้นได้ ส่วนเดือน เม.ย.นี้ เตรียมถกมะกันให้ยกเว้นไม่ใช้มาตรการกับไทย พร้อมคาดปี 61 มูลค่าส่งออกเหล็ก-อะลูมิเนียมไทยไปสหรัฐฯลดลง 35-45%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก ได้ประเมินผลกระทบมาตรา 232 ในการเก็บอากรนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมที่มีผลต่อไทย โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์โลหะเหล็กที่สำคัญของไทยจะเข้าข่ายเสียภาษีเพิ่ม ได้แก่ เหล็กรีดทรงแบน โดยปี 60 สหรัฐฯนำเข้าจากไทย 113.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, ท่อเหล็กแบบกลวง มูลค่านำเข้า 92.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, ท่อเหล็กใช้ในการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมูลค่านำเข้า 55.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, ท่อเหล็กไร้สนิมมูลค่านำเข้า 37.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอะลูมิเนียมแผ่นมูลค่านำเข้า 17.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม หลังมาตรการเก็บอากรนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ ในอัตรา 25% และ 10% ตามลำดับ ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 23 มี.ค.นี้ จะทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยลดลง ซึ่งหากประเมินตามโควตาการนำเข้าโลหะทั้ง 2 ชนิด คาดว่าปี 61 การนำเข้าจะลดลง 35-45% หรือมูลค่าการนำเข้าสินค้า 2 กลุ่มจะอยู่ที่ประมาณ 200-250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ผลิตเหล็กและอะลูมิเนียมของไทยได้ประสานกับผู้นำเข้าเหล็กในสหรัฐฯ เพื่อให้ผู้นำเข้ายื่นขอยกเว้นเก็บอากรนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากไทยเป็นรายพิกัดศุลกากรหรือรายสินค้า หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐฯใช้มาตรา 232 (เพื่อความมั่นคงภายใน) ภายใต้กฎหมาย Trade Expan-sion Act of 1962 กับสินค้าเหล็ก และอะลูมิเนียม ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 23 มี.ค.นี้ สามารถยื่นขอยกเว้นได้เป็นรายสินค้า
ทั้งนี้ ประกาศของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้กำหนดให้บุคคลหรือองค์กรที่ใช้เหล็กและอะลูมิเนียมเพื่อธุรกิจในสหรัฐฯ เช่น ก่อสร้าง โรงงาน หรือผู้จัดหาให้ผู้ใช้ (ซื้อมาขายไปในสหรัฐฯ) มีสิทธิ์ยื่นขอยกเว้นตามประกาศ และเมื่อยื่นข้อมูลขอยกเว้นกับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯแล้ว ยังกำหนดให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือผู้คัดค้านมีสิทธิ์โต้แย้งการขอยกเว้นได้ภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่ที่ได้ยื่นขอยกเว้น ส่วนหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าจะยกเว้นให้หรือไม่ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯจะพิจารณาว่าสินค้าชนิดนั้น มีการผลิตในสหรัฐฯเพียงพอหรือไม่ หรือสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯไม่มีคุณภาพเพียงพอ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความมั่นคงของประเทศด้วย
“หลังจากนี้ผู้ผลิตเหล็กไทยที่ส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมไปสหรัฐฯ จะต้องประสานกับผู้นำเข้า ซึ่งเป็นลูกค้า เพื่อให้ผู้นำเข้า ยื่นข้อมูลขอยกเว้นกับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้จำกัดระยะเวลาของการยื่น ซึ่งต้องแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้นำเข้าหรือผู้ใช้ของสหรัฐฯ หลังจากมีการใช้มาตรการดังกล่าว รวมถึงต้องแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสินค้าจากไทยที่สหรัฐฯจำเป็นต้องนำเข้า และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ”
นายวันชัย กล่าวว่า สำหรับเหล็กและอะลูมิเนียมที่ผู้ผลิตไทยจะประสานให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ยื่นขอยกเว้นจะมีทั้งรายพิกัด และรายบริษัท โดยหากเป็นรายพิกัด ได้แก่ ท่อ แผ่นเหล็กรีดเย็น และสเตนเลส (ไร้สนิม) เพราะสหรัฐฯมีกำลังการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ หรือบางสินค้า โรงงานของสหรัฐฯ อาจไม่ผลิตแล้ว เนื่องจากเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไทยสามารถยื่นขอยกเว้นได้
ด้านนายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังได้ติดตามในส่วนของการยกเว้นเป็นรายประเทศ ซึ่งสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) รับผิดชอบ ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการขอยกเว้นการเก็บภาษีเป็นรายประเทศ อย่างไรก็ตามกรมการค้าต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมข้อมูลยื่นขอยกเว้นจากการถูกใช้มาตรการเป็นรายประเทศ เพื่อให้สหรัฐฯ ถอดไทยออกจากการใช้มาตรการดังกล่าวต่อไป “นอกจากยื่นขอยกเว้นเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากไทยเป็นรายพิกัดศุลกากรแล้ว ไทยยังจะเจรจากับสหรัฐฯให้ยกเว้นใช้มาตรการนี้กับไทยด้วย โดยจะหยิบยกปัญหาผลกระทบที่ได้รับจากการใช้มาตรา 232 ขึ้นหารือในเวทีการประชุมคณะกรรมการด้านการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (TIFA) เดือน เม.ย.นี้”.