โอกาสที่สูญเสียไป เขื่อน กับ ต้นทุนทางสังคม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

โอกาสที่สูญเสียไป เขื่อน กับ ต้นทุนทางสังคม

Date Time: 19 มี.ค. 2561 05:01 น.

Summary

  • เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้สร้างขึ้นในแบบฝายน้ำล้นขนาดใหญ่ (Run-of-River) ตามความยาวของลำน้ำโขง 820 เมตร สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1,285 เมกะวัตต์...

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของประเทศไทย และประธานคณะกรรมการบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) นำคณะสื่อมวลชนไปสำรวจความคืบหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง ห่างจากเมืองหลวงพระบางไปประมาณ 80 กิโลเมตร

เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้สร้างขึ้นในแบบฝายน้ำล้นขนาดใหญ่ (Run-of-River) ตามความยาวของลำน้ำโขง 820 เมตร สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1,285 เมกะวัตต์

เป็นการดำเนินงานภายใต้การร่วมทุนกันระหว่าง รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) กับ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) “CKP” โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 95% และ รัฐวิสาหกิจ สปป.ลาว 5% เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 และจะสิ้นสุดพร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2562

ที่ตั้งของเขื่อนนี้อยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศไทยติดกับจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ และเลย ซึ่งหลังจากที่เขื่อนไซยะบุรีสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยจะได้รับประโยชน์สูงสุดด้วยการมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ และครอบคลุมพื้นที่ทั่วภูมิภาค

เขื่อนไซยะบุรี เป็น 1 ใน 11 เขื่อนที่รัฐบาล สปป.ลาววางแผนจะดำเนินการในลักษณะฝายน้ำล้นแบบเดียวกันบนแม่น้ำโขง หลังจากที่สาธารณรัฐประชาชนจีน สร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในส่วนที่อยู่ในจีน-เมียนมาไปแล้ว 7 เขื่อน

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีถูกออกแบบ และพัฒนาด้วยเทคโนโลยีทันสมัยซึ่งเป็นที่ยอมรับจากผู้ผลิตชั้นนำทั่วโลก ภายใต้คำแนะนำ และการออกแบบก่อสร้างของผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากประเทศฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และทีมกรุ๊ปจากประเทศไทย

ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนเท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลออกจากโครงการ และไม่มีการเบี่ยงน้ำออกจากแม่น้ำโขง

ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนจึงเป็นไปตามปริมาณน้ำธรรมชาติ เพราะไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เหมือนเขื่อนกักเก็บน้ำทั่วไป หลังก่อสร้างเสร็จ และเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้นเฉพาะบริเวณด้านเหนือน้ำจากที่ตั้งโครงการไปจนถึงตอนใต้ของเมืองหลวงพระบาง โดยมีระดับน้ำใกล้เคียงกับระดับน้ำสูงสุดในฤดูน้ำหลากตามธรรมชาติ ส่วนตอนล่าง หรือท้ายน้ำของโครงการ แม่น้ำโขงจะมีระดับปกติตามธรรมชาติ

ด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ทันสมัย และการคัดเลือกเครื่องจักร รวมถึงอุปกรณ์สำคัญๆ เช่น บานประตู กังหันน้ำ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หม้อแปลง ระบบสายส่งกระแสไฟฟ้า ตลอดจนถึงระบบควบคุม และอุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆเพื่อให้มั่นใจในการใช้เขื่อนไซยะบุรีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ ไซยะบุรี พาวเวอร์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญของการก่อสร้างที่นำเอาเทคโนโลยีทางวิศวกรรมชั้นนำมาใช้ว่า เป็นความจำเป็นที่จะต้องทำให้เขื่อนไซยะบุรี สามารถรองรับเส้นทาง การเดินเรือ ซึ่งต้องแล่นผ่านเข้าเขื่อนได้ตลอดทั้งปี เพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และสังคมของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโดยรวมให้ได้

ด้วยเหตุนี้ ช่องทางการเดินเรือจึงถูกออกแบบมาให้มีความกว้าง 12 เมตร และมีความยาวประมาณ 700 เมตร เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ได้ถึง 500 ตัน เช่นเดียวกับการเดินทางโดยเรือเพื่อการท่องเที่ยว

“เมื่อเรือมาจากท้ายน้ำที่มีระดับน้ำต่ำกว่า จะแล่นเข้าสู่ช่องพักเรือด้านล่าง (Lower Lock Chamber) ประตูน้ำควบคุมน้ำบานท้ายน้ำจะปิดลง และมีการปล่อยน้ำจากเหนือเขื่อนเข้ามาเพื่อยกระดับน้ำและเรือสูงขึ้นเท่ากับช่องพักเรือด้านบน (Upper Lock Chamber) จนน้ำนิ่ง แล้วจึงเปิดประตูให้เรือผ่านเข้าสู่ทางเดินเรือเหนือน้ำเพื่อให้เรือผ่านออกไปได้...

เช่นเดียวกับการล่องเรือจากเหนือน้ำไปสู่ท้ายน้ำ ก็ใช้วิธีเดียวกันภายใต้การควบคุมบานประตูที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะไม่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยวและการเดินเรือเพื่อการขนส่งสินค้า ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆในลุ่มแม่น้ำโขง”

เขื่อนไซยะบุรี ยังมีทางระบายน้ำซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านโครงการ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชน และระบบนิเวศท้ายน้ำ ซึ่งสามารถระบายน้ำได้สูงสุด 47,500 ลบ.เมตรต่อวินาที จึงเหมาะแก่การใช้น้ำเพื่อการดำรงอยู่ของชุมชน และการผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง

จากกำลังการผลิตรวม 1,285 เมกะวัตต์ เขื่อนไซยะบุรี จะสามารถผลิตและจ่ายไฟฟ้าส่งเข้าระบบสายส่งได้พลังงานการผลิตตลอดปีเท่ากับ 7,370 ล้านหน่วย จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทยได้ 6,929 ล้านหน่วย และ สปป.ลาว 441 ล้านหน่วย

ส่วนประเด็นที่มีข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับการขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดจำนวนมากในแม่น้ำโขงนั้น ไซยะบุรี พาวเวอร์ ได้ลงทุนกว่า 800 ล้านบาท เพื่อสร้างระบบทางปลาผ่านอย่างรอบคอบเพื่อให้ปลาส่วนใหญ่ผ่านโครงการได้ในทุกฤดูกาลทั้งปลาที่อพยพขึ้นทวนน้ำ และอพยพกลับไปตามน้ำด้วยช่องยกระดับปลาผ่านได้ เช่นเดียวกับทางผ่านของเรือ

นอกจากนี้ ยังเพิ่มระบบทางปลาผ่านที่ช่องทางเดินเรือให้ปลาสามารถผ่านขึ้นลงในช่วงตลอดการก่อสร้างจนแล้วเสร็จในปี 2562 โดยไม่มีอุปสรรคใดๆด้วย

สำหรับการดูแลผลกระทบของสังคม โดยเฉพาะประชากรที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง เมื่อระดับน้ำสูงขึ้นนั้น นายธนวัฒน์ กล่าวว่า บริษัทได้จัดทำแผนการโยกย้าย และฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวน 600 กว่าครัวเรือน โดยยึดแนวนโยบายของรัฐบาล สปป.ลาวว่า

ผู้คนในบริเวณนี้จะต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีรายได้สูงขึ้นกว่าเดิมคือ จาก 1,800 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 56,700 บาท (4,725 บาทต่อครัวเรือนต่อปี : 31.50 บาทต่อดอลลาร์) เพิ่มขึ้นเป็น 2,200 เหรียญต่อคนต่อปี หรือ 69,300 บาทต่อครัวเรือนต่อปี

ขณะเดียวกัน ก็ต้องไปหาสถานที่ในบริเวณใกล้เคียงที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี รวมถึงสร้างโรงเรียน แหล่งอุปโภค-บริโภค รวมถึงระบบการคมนาคมขนส่งที่ดีให้

“การโยกย้ายประชาชนออกจากพื้นที่เป็นไปด้วยความราบรื่น เมื่อบริษัทได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก และสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างเพียงพอให้ ไม่ว่าจะเป็นถนน ระบบการคมนาคมขนส่ง โรงเรียน สถานีอนามัย ศูนย์พัฒนาอาชีพ 22 รายการ...

ตลอดจนถึงการจัดสรรพื้นที่เกษตรกรรม 10 ประเภท และสร้างอาชีพนอกภาคเกษตรกรรม ให้อีก 12 ประเภท เพื่อให้หาเลี้ยงชีพได้อย่างเหมาะสม ทำให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้นได้” นายธนวัฒน์ กล่าว

เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีแห่งนี้ สร้างขึ้นด้วยงบประมาณ 135,000 ล้านบาท มากพอจะก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้แก่ผู้คนในพื้นที่เพื่อการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อีกหลายเท่า ขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดประโยชน์โพดผลมากมายแก่ผู้คนในสองฝั่งโขง และเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศทั้งไทย และ สปป.ลาว จนอาจคำนวณเป็นมูลค่าในอนาคตไม่ได้

น่าเสียดายที่โครงการขนาดใหญ่ และมีมูลค่ามหาศาลเช่นนี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย เพราะมี NGO ออกมาประท้วงคัดค้านตลอด เขื่อนหลายแห่งที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคมคนในพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน และระบบเศรษฐกิจของประเทศหลายแห่ง จึงต้องพับไป

แผนการสร้างเขื่อนสำคัญๆที่ถกเถียงกันมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20-30 ปี จึงหาข้อยุติไม่ได้ เพราะกลไกทางการเมืองไม่ทำหน้าที่ในการตัดสิน และหาข้อยุติว่า สิ่งใดดีที่สุดสำหรับประเทศ และประชาชน

เขื่อนแม่ยม และเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งต้องสร้างขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมซ้ำซากในหน้าฝน และแก้ปัญหาภาวะภัยแล้งในฤดูแล้ง ทั้งในจังหวัดสุโขทัย นครสวรรค์ และจังหวัดต่างๆโดยรอบ เพื่อทำให้การบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปอย่างครบวงจรนั้น

ทำไม่ได้สักครั้งเมื่อเรื่องของสองเขื่อนนี้ถูกหยิบยกขึ้นมา ก็มักจะมีข้ออ้างเรื่องพื้นที่ป่าที่จะถูกน้ำท่วมเพียง 1-2% เมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าทั้งหมด หรือพื้นที่เหนือเขื่อนเพียงหมื่นไร่ เมื่อเทียบกับพื้นที่ล้านไร่ของอุทยาน และพื้นที่ที่จะท่วมบ้านเรือนประชาชน รวมถึงอุทยานประวัติศาสตร์

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร กล่าวว่า ฝรั่งให้ความสำคัญกับปากท้องของผู้คนว่า จะต้องมาก่อน จึงจะเห็นว่าประเทศที่เจริญมั่งคั่งแล้ว ทั้งยุโรป และอเมริกา ได้สร้างเขื่อน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆอย่างเต็มที่แล้ว แม่น้ำทุกสายไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ถูกใช้เพื่อการสร้างเขื่อน ฝาย เพื่อผลิตไฟฟ้า และการชลประทานเต็มไปหมด

แม่น้ำดานูบก็ดี แม่น้ำสายอื่นๆก็ดี ล้วนแต่มีการก่อสร้างเขื่อน หรือฝายเพื่อการชลประทาน และผลิตกระแสไฟฟ้าตลอดทั้งสาย ที่รัฐนิวยอร์ก เกาะแมนฮัตตันทั้งเกาะก็ใช้ไฟฟ้าจากเขื่อน และฝายจากน้ำตกไนแองการา เขาจึงข้ามพ้นเรื่องผลผลิตการเกษตร และไฟฟ้าสะอาด ราคาถูกกันไปหมดแล้ว กระทั่งหันกลับมาคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมอุดมคติ-คุณภาพชีวิต และโลกร้อน ป่าที่ถูกโค่นทำลาย ก็กลายเป็นป่าปลูกใหม่ไปหมดแล้ว

กลไกการปกครองประเทศ จำเป็นต้องมีขบวนการตัดสินใจที่ไม่ทำให้สังคม และประเทศเสียโอกาส ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่สร้างต้นทุนมหาศาลจากน้ำท่วมน้ำแล้งให้แก่ผู้คน

ในอนาคต หากความขัดแย้งเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรมีมากขึ้น และประเทศไทยยังต้องการเพิ่มผลผลิตต่อหัว ต้องการเพิ่มรายได้จากภาษีอากร ต้องการพัฒนาการที่ทำให้จีดีพีขยายตัวสูงกว่า 5% ต่อปี ก็จำเป็นที่ผู้มีอำนาจปกครองประเทศจะต้องเลือกว่า จะเอาปากท้องของคนไทยมาเป็นอันดับหนึ่ง หรือเอาหน้าด้านอุดมคติกับ NGO เข้ามาเป็นตัวตัดสิน.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ