พาณิชย์ เผย “ทรัมป์” ลงนามขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก-อะลูมิเนียม” ทุกชนิด ที่นำเข้าจากทุกประเทศ มีผล 23 มี.ค.นี้ ชี้ระยะยาว ไทยโดนกระทบเต็มๆ ถกเอกชนรับมือ...
เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค. นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าภายใต้มาตรา 232 (National Security) กับสินค้าเหล็ก และอะลูมิเนียม ทุกรายการ ที่นำเข้าจากทั่วโลก รวมถึงไทย ในอัตรา 25% และ 10% ตามลำดับ โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 23 มี.ค.นี้ เป็นต้นไป กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเมื่อวันที่ 9 มี.ค. ได้เชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทย ที่เกี่ยวข้อง มาหารือผลกระทบและแก้ไขปัญหาจากการใช้มาตรการดังกล่าว โดยผลิตภัณฑ์เหล็กของไทยที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ท่อเหล็ก และเหล็กแผ่นรีดเย็น
สำหรับผลกระทบในระยะสั้น หรือในช่วง 1-3 เดือน หลังจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าแล้ว คาดว่าการส่งออกเหล็กของไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะราคาเหล็กในสหรัฐฯ ปรับขึ้นประมาณ 30% แล้ว ซึ่งแม้ว่าเหล็กของไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่กำหนด แต่ยังคงสามารถแข่งขันด้านราคาในตลาดสหรัฐฯ ได้ ประกอบกับผู้ผลิตในสหรัฐฯ ยังอยู่ระหว่างการปรับตัว และไม่สามารถขายสินค้าในราคาต่ำในระยะเวลาอันรวดเร็ว ผู้นำเข้าสหรัฐฯ จึงยังคงต้องนำเข้าสินค้าอยู่
ส่วนในระยะยาว คาดว่า อุตสาหกรรมเหล็กไทยจะได้รับผลกระทบ เพราะผู้ผลิตของสหรัฐฯ ปรับตัวได้แล้ว และเพิ่มกำลังการผลิตจนสินค้ามีราคาแข็งขันได้ รวมทั้งผู้ผลิตเหล็กในแคนาดาและเม็กซิโก ที่ได้รับการยกเว้นจากการใช้มาตรการ 232 จะได้เปรียบผู้ส่งออกประเทศอื่น รวมทั้งไทย และยังคงรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯได้
"ในส่วนของไทย จะเจรจากับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เพื่อขอยกเว้นการใช้มาตรการ 232 เป็นรายพิกัดสินค้า ก่อนที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะประกาศรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการ ในการดำเนินการขอยกเว้นเป็นรายพิกัด ภายในวันที่ 19 มี.ค.นี้ ซึ่งกระทรวงจะร่วมกับภาคเอกชนไทยจัดเตรียมข้อมูล และหารือกับบริษัทคู่ค้าในสหรัฐฯ เพื่อยื่นขอยกเว้นมาตรการรายพิกัดสินค้าต่อไป"
นอกจากนี้ ไทยจะเจรจากับสหรัฐฯ ในการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบการค้าและการลงทุน (TIFA) ไทย-สหรัฐฯ ที่จะประชุมเดือนเม.ย.นี้ เพื่อขอยกเว้นการใช้มาตรการ 232 กับไทย ซึ่งสหรัฐฯ เปิดช่องสำหรับประเทศที่มี Security Relationship ในการหารือเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ยืนยันกระทรวงพาณิชย์จะติดตามการใช้มาตรการ 232 อย่างใกล้ชิด และร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อดำเนินการปกป้องผลประโยชน์ของไทยต่อไป.