สหรัฐฯ ขยับสถานะทรัพย์สินทางปัญญาไทย พ้นบ่วงถูกจับตามองพิเศษ!

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สหรัฐฯ ขยับสถานะทรัพย์สินทางปัญญาไทย พ้นบ่วงถูกจับตามองพิเศษ!

Date Time: 18 ธ.ค. 2560 09:20 น.

Summary

  • “พาณิชย์” ปลื้มสหรัฐฯ ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยดีขึ้น หลุดจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ มาสู่ประเทศที่ถูกจับตามอง ยันทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นไทยมากขึ้น...

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

“พาณิชย์” ปลื้มสหรัฐฯ ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยดีขึ้น หลุดจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ มาสู่ประเทศที่ถูกจับตามอง ยันทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นไทยมากขึ้น

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.60 นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์) ได้ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ จากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (พีดับบลิวแอล) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (ดับบลิวแอล) หลังจากที่ได้จัดให้ไทยอยู่ในบัญชีพีดับบลิวแอล ตั้งแต่ปี 50 ถึงปี 60

สำหรับการประกาศผลครั้งนี้ ยูเอสทีอาร์ระบุว่า สหรัฐฯตระหนักถึงความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการพัฒนาด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในระดับสูง ภายใต้คณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน อีกทั้งมีการดำเนินการอย่างจริงจังจนเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องการปราบปรามการละเมิดในท้องตลาด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปราบปรามการละเมิดอย่างเข้มงวด จนการละเมิดได้หมดสิ้นไปในหลายพื้นที่ตั้งแต่เดือน ก.ค.60 เป็นต้นมา รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อออกตรวจตราจับกุมใน 5 ย่านการค้าสำคัญ คือ ศูนย์ การค้ามาบุญครอง ตลาดนัดจตุจักร ตลาดโรงเกลือ หาดป่าตองและหาดกะรน

นอกจากนี้ ยูเอสทีอาร์ยังเห็นถึงความพยายามของไทยในการแก้ไขข้อกังวลของภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรง เช่น การพัฒนาประสิทธิภาพในการจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า โดยเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบและปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียน จนสามารถลดปริมาณงานค้างสะสม รวมทั้งการเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่จะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมาย การค้าในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่สามารถขอรับความคุ้มครองได้ในประเทศสมาชิกหลายประเทศ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่มิได้เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรง เช่น การเสริมสร้างความโปร่งใสโดยเปิดให้รับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นประจำ “การที่ไทยได้ปรับสถานะให้ดีขึ้น จะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุน ในสายตาของผู้ค้าและนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยว– ข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการขับเคลื่อนธุรกิจ นอกจากนี้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สหรัฐฯ พิจารณาให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ซึ่งสหรัฐฯให้แก่ประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมถึงไทย”

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า พัฒนาการด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยและการปรับสถานะของไทย จะมีส่วนสำคัญผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนของประเทศ นอกจากนี้การพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย “Thailand 4.0” และนำไทยก้าวข้ามไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ