วางเป้าหมายไทยในอีก 20 ปี  ขึ้นสู่ประเทศพัฒนารายได้ต่อหัวปีละ 5 แสน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

วางเป้าหมายไทยในอีก 20 ปี ขึ้นสู่ประเทศพัฒนารายได้ต่อหัวปีละ 5 แสน

Date Time: 14 พ.ย. 2560 10:01 น.

Summary

  • คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน วาง 4 เป้าหมาย ฝันในอีก 20 ปีข้างหน้าคนไทยมีรายได้เฉลี่ยในระดับประเทศพัฒนาแล้ว จีดีพีขยายตัวปีละ 5% ผลิตภาพการผลิตรวมไม่ต่ำกว่า 3% ติด 1 ใน 20 อันดับความสามารถแข่งขัน

Latest

"สถิตย์" ย้ำกฎหมายแกร่ง ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไร้อำนาจแทรกแซง นโยบายการเงิน - ปลดผู้ว่าฯ

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน วาง 4 เป้าหมาย ฝันในอีก 20 ปีข้างหน้าคนไทยมีรายได้เฉลี่ยในระดับประเทศพัฒนาแล้ว จีดีพีขยายตัวปีละ 5% ผลิตภาพการผลิตรวมไม่ต่ำกว่า 3% ติด 1 ใน 20 อันดับความสามารถแข่งขันของไอเอ็มดี จากปัจจุบันอันดับ 27

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เปิดเผยว่า ได้ใช้ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.58 จัดทำขึ้นเป็นข้อมูลตั้งต้น และหลังจากหารือกันมาระยะหนึ่งได้วาง 4 เป้าหมายที่ต้องบรรลุผลได้จริง มีความท้าทาย เพราะหน่วยงานต่างๆต้องนำยุทธศาสตร์ชาติไปแปลงเป็นแผนปฏิบัติการ และสำนักงบประมาณต้องพิจารณางบประมาณให้กับแผนงานโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้วย จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่พร้อมจะนำไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และขยับพร้อมกันทุกองคาพยพ

สำหรับเป้าหมายที่ 1 ไทยจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีรายได้ต่อหัวมากกว่า 15,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 495,000 บาทต่อคนต่อปี (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญฯ เท่ากับ 33 บาท) ภายใน 20 ปีหรือในปี 80 จากปี 59 ที่มีรายได้ต่อหัว 6,000 เหรียญฯต่อคนต่อปี หรือ 198,000 บาท โดยธนาคารโลกได้กำหนดประเทศที่พัฒนาแล้วมีรายได้ต่อหัวมากกว่า 12,235 เหรียญต่อคนต่อปี หรือ 403,755 บาท แต่ไทยคำนวณจากอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่ 5% จึงตั้งเป้าที่ 15,000 เหรียญฯต่อคนต่อปี ทั้งนี้ การจะไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวต้องใช้แรงผลักจากเป้าหมายที่ 2 คือ การขยายตัวของจีดีพีไม่ต่ำกว่า 5% ในช่วง 20 ปี จากปัจจุบันที่ 3.8-4.0%

“การผลักดันจีดีพี 5% ประกอบด้วย การขยายตัวของทุน 2.6% ผลิตภาพการผลิต 2.5% ขณะที่กำลังแรงงานยังส่งผลเชิงลบ 0.10% ส่วนปัจจัยที่ดินไม่ส่งผลต่อการขยายตัวของจีดีพี เพราะมีการใช้ประโยชน์และไม่สามารถขยายได้อีก จึงต้องอาศัยการขยายตัวของการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่ม”

ขณะที่เป้าหมายที่ 3 คือ ผลิตภาพการผลิตรวม (ประกอบด้วย แรงงาน ที่ดิน ทุน และผลิตภาพการผลิต) ไม่ต่ำกว่า 3% เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย เพื่อให้เข้าสู่ประเทศพัฒนาได้เร็วขึ้น โดยในปี 58 ไทยมีผลิตภาพการผลิตรวม 1.7% ซึ่งในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ปี 50-54 ผลิตภาพการผลิตรวมอยู่ที่ 0.23% ขณะที่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ปี 45-49 อยู่ที่ 3.3% สาเหตุที่ลดลงมากเพราะวิกฤติเศรษฐกิจโลกและวิกฤติน้ำท่วมในประเทศ จึงต้องปรับปรุงประสิทธิภาพแรงงาน เร่งลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และใช้นวัตกรรมใหม่ในการผลิต

ส่วนเป้าหมายที่ 4 คือ ไทยอยู่อันดับ 1 ใน20 ของการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ International Institute for Management Development (IMD) ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยอยู่อันดับที่ 25-30 โดยมีจุดอ่อนในด้านประสิทธิภาพการผลิต โครงสร้างพื้นฐานทั่วไป โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา แต่ใน 15 อันดับแรก ประเด็นเหล่านี้กลับเป็นจุดแข็ง จึงต้องเร่งพัฒนาประเทศให้เร็วกว่าการพัฒนาของประเทศอื่น ซึ่งปี 60 ไทยอยู่ในอันดับที่ 27 จาก 63 ประเทศ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ