เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
สคร.มั่นใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันและการเติบโตระยะยาว ช่วยสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน หลังเห็นการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม ขณะบอร์ดพีพีพีไฟเขียว 2 โครงการยักษ์ มูลค่า 1.27 หมื่นล้านบาท พร้อมเปิดขายหน่วยลงทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ต้นปี 61
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม ที่กรมการขนส่งทางบกเสนอมูลค่าโครงการ 1,218 ล้านบาท และคณะกรรมการพีพีพียังมีมติรับทราบการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์แปลง A ขนาดพื้นที่ 32 ไร่ บริเวณสถานีกลางบางซื่อของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยมีมูลค่าลงทุนก่อสร้างประมาณ 11,573.56 ล้านบาท รวมมูลค่า 2 โครงการ 12,791.56 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการพีพีพีได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการ พีพีพีฟาสต์แทร็กของกระทรวงคมนาคม จำนวน 8 โครงการ เช่น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษา อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนซึ่งคาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ภายในปี 2561
นายเอกนิติยังได้กล่าวในงาน Global and Thailand Economic Outlook 2018 เรื่อง “การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ” ด้วยว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้ในระยะยาว จะเห็นได้จากในช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ประเทศไทยมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ค่อนข้างมาก โดยที่เห็นได้ชัดเจน คือ โครงการอีสต์เทิร์นซีบอร์ด ซึ่งก่อให้เกิดการเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆภายในประเทศหลายแห่ง และนำไปสู่การทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าและส่งออกนำรายได้กลับเข้าประเทศจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเป็นต้นมา ประเทศ ไทยก็แทบจะไม่ได้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อีกเลย สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะสถาน– การณ์ทางการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง จึงทำให้ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายด้านการลงทุน เศรษฐกิจไทยในระยะหลังจึงมีอัตราการเติบโตเหลือเพียง 3% เท่านั้น
“ในอดีตก่อนปี 2540 เศรษฐกิจไทยขยายตัวปีละ 6-7% เพราะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างจะเพียบพร้อม เช่น โครงการอีสต์เทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเมื่อโครงสร้างพื้นฐานดี ก็เกิดนิคมอุตสาหกรรมต่างๆตามมา ช่วยให้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าและส่งออกไปได้มาก”
ส่วนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศ ไทยนั้น มองว่า ในภาพรวมถือว่าดีขึ้นมาก ทั้งความเชื่อมั่นในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการที่เห็นการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้ได้เห็นจุดเปลี่ยนของประเทศในหลายๆด้านนายเอกนิติกล่าวถึงความคืบหน้าของกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ว่า จะสามารถยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ทันภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด และเชื่อว่าจะสามารถเปิดขายหน่วยลงทุนได้ในช่วงต้นปี 2561
ทั้งนี้ จะเป็นการนำโครงการทางด่วนฉลองรัช และบูรพาวิถีไปเข้ากองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ เพื่อนำไปใช้ระดมทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพ– มหานครด้านตะวันตก วงเงินลงทุน 30,400 ล้านบาท และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 วงเงินลงทุน 14,300 ล้านบาท รวม 2 โครงการ คิดเป็นมูลค่าราว 44,000 ล้านบาท
“ปัจจุบันได้เจรจาสัญญาโอนและรับสิทธิโอนในรายได้เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ที่การพิจารณาของอัยการ เชื่อว่าเรื่องเอกสารคงจะมีความพร้อม และภายในสิ้นปีนี้จะยื่นไฟลิ่งต่อ ก.ล.ต.ได้แน่นอน การออกขายหน่วยลงทุนคงเป็นต้นปี 2561 ซึ่งตามมติ ครม.ที่ให้ความสำคัญคือ ให้โครงการนี้ออกขายใกล้เคียงกับเวลาที่การทางพิเศษฯจะใช้เงิน ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินประมาณ เม.ย. หรือ พ.ค.2561 ซึ่งถ้าออกขายได้ในไตรมาสแรก ก็จะใกล้เคียงกับเวลาที่การทางพิเศษฯต้องการใช้เงินเพื่อขยายโครงการพระราม 3-ดาวคะนอง โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะได้รับเงินทั้งหมดจากการระดมทุนของประชาชนและนักลงทุน เพื่อนำไปพัฒนาลงทุนก่อสร้างเส้นทางสายใหม่ๆต่อไป”.