เทหมดหน้าตัก 4.6 หมื่นล้านบาท
นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การขนส่งทางน้ำของประเทศตามนโยบายเชื่อมโยงรูปแบบการขนส่งของประเทศ (Shift Mode) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันและลดต้นทุนโลจิสติกส์ของชาติ เน้นขยายขีดความสามารถและพัฒนาคุณภาพขนส่งเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคอาเซียน โดยตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำต่อปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 17% พร้อมลดต้นทุนขนส่งสินค้าต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ให้เหลือไม่เกิน 12% ในระยะเวลา 20 ปี
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ต้องใช้วงเงินลงทุน 46,286 ล้านบาท มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 17% เน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางชายฝั่งตลอด จนแผนบริหารจัดการและมาตรการจูงใจเอกชนเช่นการยกเว้นภาษี ประกอบด้วย 1.แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 40,260 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างเขื่อนยกระดับแม่น้ำเจ้าพระยาและน่านเพื่อการเดินเรือ 27,080 ล้านบาท โครงการเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำเชื่อมจากแม่น้ำป่าสักผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเล 11,180 ล้านบาท และโครงการพัฒนาท่าเรือสงขลาอีก 2,000 ล้านบาท
2.แผนก่อสร้างท่าเรือชายฝั่งใหม่ 3 แห่ง วงเงินลงทุน 4,447 ล้านบาทได้แก่ โครงการท่าเทียบเรือ 20G บริเวณเขื่อนตะวันออก ท่าเรือกรุงเทพ 1,000 ล้านบาท โครงการท่าเทียบเรือชายฝั่ง A ท่าเรือแหลมฉบัง 1,864 ล้านบาท โครงการพัฒนาท่าเรือชายฝั่งที่สงขลา 1,500 ล้านบาท และการสร้างพื้นที่จอดเรือบริเวณสามแยกท่าทอง (ร่องน้ำบ้านดอน) และบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ซึ่งอยู่ฝั่งสนามกอล์ฟ ร่องน้ำบางปะกง 83 ล้านบาท และ 3.การลงทุนรักษาร่องน้ำทั่วประเทศ 1,579 ล้านบาท
ส่วนด้านมาตรการทางภาษีนั้น จะเน้นไปที่การลดภาษีเพื่อส่งเสริมและจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือไปยังกรมศุลกากรให้ปลดล็อกข้อบังคับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อลดต้นทุนการขนส่งให้กับผู้ส่งออกสินค้า โดยต้องอนุญาตให้ผู้ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศสามารถใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าในประเทศได้เพื่อลดภาระต้นทุน จากเดิมที่ต้องวิ่งคอนเทนเนอร์เปล่า เพื่อไปรับสินค้ามาขนส่งที่ท่าเรือ.