อ้าง ปชช.ไร้ผลกระทบ ขสมก.ทุ่มเออร์ลี่ฯ 2 พันล้านใช้ E-Ticket แทนกระเป๋า

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

อ้าง ปชช.ไร้ผลกระทบ ขสมก.ทุ่มเออร์ลี่ฯ 2 พันล้านใช้ E-Ticket แทนกระเป๋า

Date Time: 31 ส.ค. 2560 05:30 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • หลังจากที่ ขสมก. ต้องแบกหนี้สินกว่า 1 แสนล้านบาท จึงเตรียมหาแนวทางลดต้นทุนด้านบุคลากร โดยปัจจุบัน ขสมก.มีบุคลากรทั้งสิ้น 12,900 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งมีสัดส่วนพนักงานทั้งหมด 4.8 คน/คัน

Latest


หลังจากที่ ขสมก. ต้องแบกหนี้สินกว่า 1 แสนล้านบาท จึงเตรียมหาแนวทางลดต้นทุนด้านบุคลากร โดยปัจจุบัน ขสมก.มีบุคลากรทั้งสิ้น 12,900 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งมีสัดส่วนพนักงานทั้งหมด 4.8 คน/คัน ถือว่าสูงมากต้องลดให้เหลือ 2.4 คน/ คัน ซึ่งตามแผนฟื้นฟูตั้งเป้าหมายที่จะลดพนักงานของ ขสมก.รวม 2,000 คนในปี 62 โดยเตรียมเสนอขอจัดสรรงบ ประมาณปี 61 รวม 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ เฉลี่ยคนละ 1 ล้านบาท

นายยุกต์ จารุภูมิ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ถึงเรื่องนี้ว่า เรื่องการลดพนักงานต้องดูการปรับโครงสร้างประกอบด้วย โดยการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินการได้นำเทคโนโลยีมาใช้แทนคน เพื่อลดค่าใช้จ่ายบุคลากร ซึ่งตอนนี้อยู่ในอัตราที่สูงมากถึง 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด

โดยพนักงานขสมก.ทุกตำแหน่งที่จะเข้าโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ คาดการณ์ไว้ 2,000 คน ซึ่งอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ เพราะโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ ไม่มีการบังคับแล้วแต่ความสมัครใจของพนักงาน

ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีพนักงานเกษียณอายุตามปกติ แต่ละปีประมาณ 400-500 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตำแหน่งพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งอยู่กับองค์กรมานานและเกษียณไปตามอายุ ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ขององค์การค่อนข้างมีอายุเยอะแล้ว บางส่วนก็มีความประสงค์ที่จะได้รับเงินก้อนนี้ไปประกอบอาชีพอื่น

“ถามว่าลดพนักงานลง ที่เหลือจะเหนื่อยหรืองานหนักมากขึ้นไหม ผมว่าก็ไม่นะ เพราะคนในส่วนของออฟฟิศมีเยอะ เนื่องจากว่าเมื่อก่อนนี้ ขสมก.มีรถ 4-5 พันคัน แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 2,600 คัน ขณะที่มีพนักงานอยู่เท่าเดิม ซึ่งจริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องมีเยอะขนาดนี้ มันไม่ลดตามสัดส่วนของรถที่หายไป ทำให้ ขสมก.มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เยอะไม่สอดคล้องกับงาน ซึ่งคนที่เกินมาจะพิจารณาว่าจะเอาไปทำอะไรต่อ หรือจะเข้าโครงการเออร์ลี่ รีไทร์หรือไม่” รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ขสมก. อธิบาย

พนง.ขับรถเมล์ ไม่เพียงพอ จ่อ สลับกระเป๋ามาขับแทน

เมื่อถามว่า ปัจจุบันนี้ พนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสาร เพียงพอต่อให้บริการประชาชนหรือไม่? นายยุกต์ ตอบว่า ไม่เพียงพอ แต่ที่ผ่านมาให้บริการได้อย่างไรนั้น คือ จะมีการเปลี่ยนผลัด 2 ผลัด โดยตอนเช้าออกไป 100% คนต้องรีบไปทำงาน ขณะที่ ช่วงบ่ายพนักงานไม่เพียงพอ ไม่มีพนักงานมาเปลี่ยน ซึ่งจะเห็นได้ว่าช่วงเย็นพนักงานจะขาดรถจะน้อย ประชาชนจะรอนานกว่าช่วงเช้า

ทำให้อัตราส่วนนี้ต้องหามาเพิ่ม และพยายามที่จะสับเปลี่ยนให้พนักงานเก็บค่าโดยสารไปฝึกอบรมเพื่อให้มาเป็นพนักงานขับรถมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน ส่วนพนักงานเก็บค่าโดยสารนั้นจะใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน

พร้อมแล้วหรือ? ระบบอีทิกเกตใช้แทนมนุษย์

นายยุกต์ กล่าวว่า ตอนนี้ทางบริษัทที่ชนะการประมูลกำลังลงระบบอยู่ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ จะรองรับบัตรสวัสดิการได้ แต่แผนให้เสร็จ 100% ทุกคันจะเสร็จประมาณกลางเดือนมี.ค. 61

ทั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องมีพนักงานเก็บค่าโดยสารคอยดูแลและให้บริการประชาชน โดยวางแผนไว้ 2 ปีที่จะสร้างความรับรู้แก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งในช่วงเวลานี้จะค่อยๆ ทยอยถอดพนักงานเก็บค่าโดยสารออกไปเรื่อยๆ ในบางสายรถเมล์ที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีแล้ว

“ดังนั้น ผมมองว่า การลดบุคลากรของ ขสมก.ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน เนื่องจากจะนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนกำลังคน ส่วนอัตราคนที่เกินมานั้น อาจจะนำไปเพิ่มในส่วนที่เป็นพนักงานขับรถ เพื่อให้บริการประชาชนได้เพียงพอครับ” รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ขสมก. กล่าว

ประสานกรมสวัสดิการฯ ฝึกวิชาชีพ พนง.ขสมก.ที่เข้าโครงการเออร์ลี่ฯ

นายยุกต์ กล่าวต่อว่า ทาง ขสมก. ได้มีการประสานกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อเทรนนิ่งการฝึกวิชาชีพให้สำหรับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเรื่องนี้เคยดำเนินการมาหลายครั้งแล้ว แต่เรื่องแผนฟื้นฟูยังไม่มีความชัดเจน และโครงการเออร์ลี่ รีไทร์เป็นส่วนหนึ่งของแผนการฟื้นฟู จึงยังไม่ได้ดำเนินการ แต่ตอนนี้ทางกระทรวงคมนาคมให้กลับมาทบทวนใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของจำนวนคนและจำนวนเงิน ซึ่งต้องไปสำรวจอีกครั้ง

“สำหรับกระแสตอบรับของพนักงาน ขสมก.นั้น ต้องอธิบายก่อนว่า แผนการเออร์ลี่มีมานานแล้ว และพนักงานก็รู้กันอยู่ บางคนรออยู่ว่าเมื่อไรจะทำ เพื่อที่ว่าเขาจะได้มีเงินก้อนไปทำอย่างอื่นบ้าง” รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ขสมก. ระบุ

ตกงาน หนี้สินอ่วม ส่อปัญหาเรื้อรัง

สำหรับผลกระทบของมาตรการลดบุคลากรของขสมก. จำนวน 2,000 คนนั้น ด้าน นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ให้ความเห็นว่า จะส่งผลกระทบต่อพนักงานที่มีฐานะเงินเดือนน้อย แต่อายุมาก เมื่อตกงานจะไปทำงานที่อื่นก็ลำบากเพราะอายุเยอะ ขณะที่ พนักงานที่มีเงินเดือนสูงมีภาระค่าใช้จ่ายผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือส่งลูกเรียน เงินก้อนนี้เพียงพอหรือไม่ ซึ่งการลดคนครั้งนี้ จะเพิ่มอัตราการตกงานของประชาชนในประเทศขึ้น เพราะยังไม่มีอะไรมารองรับพนักงานเก็บค่าโดยสารเหล่านี้

จ่อโละกระเป๋ารถเมล์ ไม่ใช่ทุกคนได้ 1 ล้านบาท

นายวีระพงษ์ กล่าวต่อว่า มาตรการลดต้นทุนจากโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ นั้น หลักเกณฑ์ที่แท้จริงไม่ได้หมายความว่าจะต้องจ่ายให้ทุกคน คนละ 1 ล้านบาท โดยพนักงานเก็บค่าโดยสารบางคนทำงานมา 12 ปี เงินเดือนอย่างมาก 12,000 บาท แต่ถ้าให้ 1 ล้านบาทคนเหล่านี้เมื่อทำงานต่อไปไม่มีโอกาสที่จะได้ถึงล้านอยู่แล้ว ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงเห็นด้วยที่จะเกษียณ แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่

ทั้งนี้ วิธีคิดจะเอาเงินเดือนมาเป็นตัวตั้ง และจะต้องจ่ายไม่เกิน 20 เท่าของเงินเดือนอัตราสุดท้ายที่เข้าโครงการเกษียณ​ ซึ่งพนักงานเก็บค่าโดยสารที่เงินเดือนเต็มที่อย่างมากไม่เกิน 38,000 บาท ต้องทำงานไม่น้อยกว่า 30 ปี นอกนั้นคนที่อายุงาน 20 ปีก็ได้รับเงินเดือนประมาณ 20,000-25,000 บาท เมื่อ 2 ปีที่แล้วเริ่มสตาร์ตที่ 9,040 บาท

ดังนั้น พนักงานที่เงินเดือนน้อยเข้าโครงการเกษียณออกไปกลับได้เงินไม่กี่แสนบาทเท่านั้น ไม่ใช่ 1 ล้านบาทอย่างที่เข้าใจกัน

ปธ.สหภาพแรงงานขสมก. ชง วิธีแก้ปัญหากระทบพนักงานน้อยที่สุด?

นายวีระพงษ์ ยังได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาในครั้งนี้ด้วยว่า...

1.พนักงานเก็บค่าโดยสารบางคนเรียนจบในสาขาวิชาที่สามารถทำงานต่อยอดได้ โดยให้สลับตำแหน่งในตำแหน่งที่ควรจะมี เช่น พนักงานประจำห้องแคชบ๊อกซ์ พนักงานประจำห้องจีพีเอส พนักงานควบคุมห้องอีทิกเกต พนักงานบัญชี พนักงานประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปโดยไม่ต้องเข้าโครงการเกษียณ

2.ตำแหน่งพนักงานขับรถโดยสารยังเป็นตำแหน่งที่มีความจำเป็นและยังขาดแคลน โดยปัจจุบันมีพนักงานขับรถโดยสาร 5,000 กว่าคน พนักงานเก็บค่าโดยสาร 4,000 กว่าคน ซึ่งปัจจุบันการจราจรติดขัดทำให้ระยะเวลาเดินรถยาวนานขึ้น จึงต้องหามาตรการแก้ปัญหาให้รถหมุนเวียนให้บริการประชาชนได้ ซึ่งทุกวันนี้ขาดอัตรากำลังพนักงานขับรถโดยสารอยู่แล้ว หลายเขตการเดินรถมีการประกาศรับสมัครอยู่ ดังนั้น อาจจะให้พนักงานเก็บค่าโดยสารที่มีความรู้มีใบอนุญาตในการฝึกขับรถมาเลื่อนขั้นมาเป็นพนักงานขับรถโดยสาร โดยไม่ต้องเปิดรับสมัครบุคลากรเพิ่มเติม

3.แม้มีระบบตั๋วร่วม หรือ ‘อีทิกเกต’ (E-Ticket) หรือ ระบบจ่ายเงินแบบหยอดเหรียญ หรือ แคชบ๊อกซ์ แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีพนักงานเก็บค่าโดยสารอยู่ เพราะจะต้องคอยดูแลให้บริการหรือให้คำแนะนำอยู่ประจำรถ เช่น การใช้บัตรอีทิกเกต หรือระบบแคชบ๊อกซ์ เนื่องจากรถที่ติดอีทิกเกตยังเป็นรถเดิมอยู่

4.พนักงานเก็บค่าโดยสาร บางส่วนจำนวน 100 กว่าคนที่มีตำแหน่งเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสาร แต่ไม่สามารถขึ้นปฏิบัติหน้าที่ได้ เนื่องจากเจ็บป่วยจากการทำงาน เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคกระดูก โรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น ถือเป็นอัตราที่ไม่สามารถทำงานประจำได้ โดยให้ลงอู่ทำงานเบา ตนได้นำเสนอนายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม ให้คนกลุ่มนี้เข้าโครงการเกษียณก่อน เพื่อจะได้มีเงินบั้นปลายก้อนสุดท้าย เพราะเมื่อมาทำงานก็ไม่สามารถทำงานประจำได้ โดยต้องไปจำหน่ายตั๋วล่วงหน้า หรือปล่อยรถ โดยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เดิมได้.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์