คนรักเครื่องบินคงลุ้นเจอกับเครื่องบินลำใหม่ของการบินไทย ที่มีกำหนดจะมาช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้ มาทำความรู้จักกับลำล่าสุดกับ โบอิ้ง 787-9 โดยนักบินมือพระกาฬที่จะไปรับเครื่องที่ซีแอตเติลว่า 787-9 มีอะไรเหนือกว่ารุ่นก่อนหน้าบ้าง...
เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน การบินไทย ก็จะมีเครื่องบินลำใหม่อีก 1 ลำเข้าประจำการ และนับเป็นสมาชิกลำล่าสุดของฝูงบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ โดยเป็นรุ่นล่าสุดจากสายการผลิตในลำดับที่ 60 จากโรงงานโบอิ้ง เอเวอร์เรต เมืองซีแอตเติล ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช่แล้วเรากำลังพูดถึง 787-9 หรือ 787 แดช 9 รุ่นอัพเกรดของโบอิ้ง 787 ที่เพิ่มจำนวนที่นั่ง และพิสัยบินที่ไกลมากขึ้น หลังจากที่หลายๆ คนได้เห็นภาพเครื่องบินลำใหม่นี้กำลังออกจากสายการผลิต ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thai Airways ไปเมื่อไม่นานมานี้
ไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ กัปตันกิตติวัจน์ มงคลพฤฒางกูร หัวหน้านักบินเทคนิคเครื่องบินแบบโบอิ้ง 787 ที่เป็นนักบินผู้ที่จะไปรับเครื่องบินกลับสู่ประเทศไทย และเป็นนักบินไทยที่จะได้บินกับ 787-9 ลำใหม่นี่เป็นคนแรก ถึงเรื่องราวความเป็นมาของ โบอิ้ง 787-9 และกระบวนการการตรวจสอบรับมอบเครื่องบิน ก่อนที่จะเอามาให้บริการผู้โดยสารของการบินไทยอย่างเป็นทางการ ให้ได้รับทราบกัน
กัปตันกิตติวัจน์ เล่าถึงขั้นตอนการตรวจรับเครื่องบินใหม่จากโรงงานโบอิ้งว่า หลังจากที่เครื่องบินอยู่ในสายการประกอบเป็นระยะเวลา 45 วัน เครื่องก็จะเสร็จสมบูรณ์ ทางทีมนักบินทดสอบของโบอิ้ง จะนำเครื่องบินออกไปบินทดสอบก่อน ก่อนกำหนดรับมอบ 2 วัน ทีมนักบินไทยจะไปถึง ก็จะเริ่มเดินดูรอบๆ เครื่องเพื่อตรวจความเรียบร้อย ทำการทดสอบระบบต่างบนภาคพื้นดิน ตรวจความเรียบร้อยที่นั่งและโดยสาร ขั้นตอนตรงนี้จะกินเวลา 1 วันเต็มๆ
จากนั้นขั้นตอนต่อไป ก็จะนำเครื่องบินไปบินทดสอบร่วมกับนักบินของโบอิ้ง เพื่อดูการทำงานของระบบต่างๆ บนเครื่องบิน ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยไม่มีปัญหา ก็เตรียมเซ็นสัญญารับมอบได้ แต่ถ้าพบความผิดปกติ ไม่เรียบร้อย ก็จะต้องให้ทางโบอิ้งปรับแก้ไขจนกว่าเราจะพอใจ แล้วจึงค่อยทดสอบใหม่ หากผลการทดสอบผ่านหมดไร้ปัญหา ก็เซ็นรับมอบเครื่องบิน จากนั้นทีมรับเครื่องบินก็จะบินเครื่องบินกลับประเทศไทย โดยบินตรงจากซีแอตเติล ใช้เวลา 14 ชั่วโมง ก็กลับมายังสนามบินสุวรรณภูมิโดยสวัสดิภาพ
ทำความรู้จัก ดรีมไลเนอร์กันก่อน
หัวหน้านักบินเทคนิคเครื่องบินแบบโบอิ้ง 787 เล่าถึงเครื่องบินดรีมไลเนอร์ 787-9 ว่า เป็นเครื่องบินพิสัยบินไกลขนาด 2 เครื่องยนต์ ที่เรียกได้ว่า เปลี่ยนโฉมใหม่จากเครื่องบินโบอิ้งที่เคยผลิตกันมา ใน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่
1.ความสะดวกสบาย
2.ออล นิว ดีไซน์
3.รักษ์โลก (Think Earth)
จุดเด่น 7 ข้อที่น่าสนใจ
1.เครื่องบินดรีมไลเนอร์ ใช้วัสดุในการประกอบมาจากวัสดุคอมโพสิตที่มีความแข็งแรงแต่น้ำหนักเบากว่าเดิม 50% เมื่อน้ำหนักเบาจึงใช้เชื้อเพลิงน้อยลง ขณะที่โครงสร้างมีความแข็งแรงมากขึ้น ในเรื่องนี้ส่งผลต่อเครื่องบินมาก ทำให้สามารถปรับความกดดันบนเครื่องบินให้เหลือเพียง 6,000 ฟุต หรือ ราวๆ 1.8 กิโลเมตร ทำให้ผู้โดยสารบนเครื่องมีความสบายเหมือนอยู่บนยอดดอยอินทนนท์ ส่งผลให้ความชื้นในอากาศที่มากขึ้น ผิวจะไม่แห้ง คอไม่แห้ง ไม่อ่อนเพลีย เมื่อต้องเดินทางบริเป็นระยะทางไกลๆ
การออกแบบ ด้วยความที่เป็นที่เป็นออลนิวดีไซน์ (All New Design) ทำให้เครื่องบินมีรอยต่อน้อยลง เพราะการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ จะถูกแบ่งมาเป็นส่วนๆ 6 ส่วนหลัก ต่างจากเดิมที่ใช้เหล็กเป็นแผ่นๆ มาประกอบ จุดนี้ทำให้เครื่องบินมีห้องโดยสารที่เงียบ เพราะลดเสียงรบกวนที่มาจากภายนอก ผู้โดยสารสามารถหลับได้เต็มอิ่มกว่าเครื่องรุ่นเก่าๆ ก่อนหน้านี้
2.สิ่งที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนของการออกแบบใหม่ คือ เครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ เทรนท์ 1000 ของโบอิ้ง 787 มีการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายฟันปลา โดยเครื่องโบอิ้งออกแบบมาเพื่อลดมลภาวะทางเสียง ทำให้เสียงดังจากเครื่องยนต์ลดลง ที่สำคัญไม่มีปัญหาเครื่องยนต์เสียแบบที่เคยเกิดขึ้น เพราะทางโรลส์รอยซ์ได้มีการปรับปรุงชิ้นส่วนกลีบใบพัดเครื่องยนต์ใหม่มาแล้ว
3.ระบบปรับอากาศบนเครื่องบิน แต่เดิมเครื่องบินโดยสารรุ่นเก่าๆ ระบบปรับอากาศจะดึงเอาลงจากเครื่องยนต์ มาทำเป็นแอร์คอนดิชั่นหมุนเวียนในห้องโดยสาร ส่งผลให้ได้อากาศที่แห้งและมักเกิดไฟฟ้าสถิต แต่ใน 787 เป็นการนำเอาอากาศภายในเข้ามาใช้โดยตรงผ่านท่องดูดรับใต้ท้องเครื่อง ทำให้เครื่องยนต์ลดภาระลงประหยัดเชื้อเพลิง อีกทั้งยังได้อากาศที่มีความชื้นสูงขึ้น ผู้โดยสารเหนื่อยในการเดินทางลดลง ทั้งนี้ ประสบการณ์แบบนี้มีเฉพาะดรีมไลเนอร์ 787 เท่านั้น
4.หน้าต่างที่ใหญ่ขึ้นกว่าเครื่องบินโดยสารแบบโบอิ้ง 777 อีก 70% ดรีมไลเนอร์ ทำให้คนตรงแถวกลางได้เห็นวิวด้านนอก นี่เป็นประโยชน์ของการใช้วัสดุคอมโพสิตที่มำให้รอยต่อหน้าต่างแข็งแกร่งมากกว่าเดิม อีกทั้งยังออกแบบให้นำกระจกที่เป็นม่านไฟฟ้า มาแทนที่ม่านหน้าต่างแบบเดิม
5.โปรแกรมช่วยการบินให้บินได้อย่างราบรื่น ดรีมไลเนอร์ สามารถบินได้นิ่มนวลไม่สั่น เมื่อต้องเจอสภาพอากาศแปรปรวน
6.Mood LED Lighting ระบบแสงสว่างบนเครื่องบิน ที่มาจากหลอดไฟแบบแอลอีดี ให้แสดงนวลไม่แสบตา รู้สึกผ่อนคลาย สบายตลอดเที่ยวบิน
7.ระบบสารบันเทิงบนเครื่อง บนดรีมไลเนอร์ 787-9 ลำใหม่ของการบินไทย มากับระบบ In Flight Entertainment รุ่นใหม่ พร้อมจอภาพหน้าที่นั่งที่คมชัดระดับ HD ที่ใหญ่มากขึ้น
ในด้านความแตกต่างระหว่างโบอิ้ง 787-8 และ 787-9
กัปตันกิตติวัจน์ อธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง 2 รุ่นนี้ว่า สำหรับ 787-9 ลำใหม่ที่กำลังจะรับมอบ หากพิจารณาที่ภายนอกจะพบว่า 787-9 ยาวกว่ารุ่นเดิม 6 เมตร เพราะมีการขยายส่วนหัว และหางเครื่องบินให้ยาวขึ้น โดยเมื่อมองทั้งลำจะพบว่าใน 787-9 เครื่องจะมีความสมส่วนมากขึ้น ในด้านจำนวนที่นั่ง โบอิ้ง 787-9 มีทั้งหมด 298 ที่นั่งเป็นชั้นธุรกิจ 30 ที่นั่ง และ ชั้นประหยัด 268 ที่นั่ง มากว่า โบอิ้ง 787-8 ที่มีที่นั่งรวม 264 ที่นั่ง เป็นชั้นธุรกิจ 24 ที่นั่ง ชั้นประหยัด 240 ที่นั่ง การขยายลำตัวที่ยาวขึ้นยังส่งผลให้พิสัยการบินของ 787-9 ไกลขึ้นจาก 7,800 ไมล์ เป็น 8,200 ไมล์ หรือ ราวๆ 15,000 กิโลเมตร สามารถบินตรงพร้อมน้ำหนักบินขึ้นสูงสุด จากกรุงเทพฯ ไป ซีแอตเติล หรือ ซานฟรานซิสโกได้สบาย
จุดแตกต่างบน 787-9 อีกอย่างที่เห็นแล้วแยกจากดรีมไลเนอร์ตัวเก่าชัดเจนคือห้องโดยสารชั้นธุรกิจ คือ ที่นั่งชั้นธุรกิจทั้ง 30 ที่ ถูกจัดเรียงแบบ 1:2:1 โดยเก้าอี้จะเอียงออกมา 8 องศา และสามารถปรับที่นั่งราบเป็นที่นอนได้ รวมทั้งบริการอินเทอร์เน็ตไวไฟ สกายคอนเนค ที่จะเริ่มให้บริการได้ในเดือน ต.ค.นี้
หัวหน้านักบินเทคนิคเครื่องบินแบบโบอิ้ง 787 อธิบายอีกว่า นอกจากนี้มีสิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ โบอิ้ง 787 ถือเป็นโรงผลิตไฟฟ้าขนาดย่อมๆ เรียกว่าน้องๆ เขื่อนเลยก็ว่าได้ เพราะสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงถึง 1 เมกะวัตต์ เพื่อใช้บนเครื่องบิน และการจ่ายไปยังห้องโดยสาร และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า เพราะอุปกรณ์ความบันเทิงบนเครื่อง ปลั๊กไฟ และไวไฟ ต้องใช้ไฟฟ้าในปริมาณมหาศาล โดยไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ในเครื่องยนต์ทั้ง 2 ตัว รวมกันสามารถสร้างไฟได้ถึงเกือบๆ 1 เมกะวัตต์
เมื่อถามถึงความพร้อมของของนักบิน กัปตันกิตติวัจน์ กล่าวว่า ในส่วนของนักบิน ขณะนี้ มีความพร้อมมาก นักบินที่บิน 787 ของการบินไทยกว่า 80% จะบินกับเครื่องโบอิ้ง 777 ด้วยแปลว่าสามารถบินได้ทั้ง 2 แบบ เนื่องจากโบอิ้งออกแบบห้องนักบินมาเหมือนๆ กัน แต่ 787 มีเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการที่ง่าย นักบินที่บิน 787-8 มาสามารถอ่านคู่มือก่อนแล้วก็ทำการบินได้เลย ไม่ต้องฝึกเพิ่มเติม ส่วนตัวสิ่งที่ทำให้ชอบดรีมไลเนอร์ คือ ความสะดวกสบาย เพราะต้องบินกับ 787 บ่อย ดรีมไลเนอร์ ทำให้การทำงานสบาย เหมือนเช่นเดียวกับผู้โดยสาร มลภาวะทางเสียงก็น้อยกว่า บินได้อย่างราบรื่น และที่สำคัญเราบินเร็วกว่า เครื่องบินรุ่นพี่อย่าง โบอิ้ง 777 ด้วย
ทั้งนี้ สำหรับ โบอิ้ง 787-9 ลำแรกที่จะมาถึงมีทะเบียน HS-TWA ชื่อพระราชทานว่า "พัฒนานิคม" จะมาถึงไทยตามกำหนดเวลา 19.20 น.วันที่ 16 ก.ย.2560 นี้ ส่วน โบอิ้ง 787-9 ลำที่ 2 มีทะเบียน HS-TWB ชื่อพระราชทานว่า "พรหมบุรี" มีกำหนดรับมอบกลับถึงไทย ช่วงปลายเดือน ต.ค.ปี 2560 อีกไม่กี่วันเราก็จะได้ยลโฉมเครื่องบินลำใหม่ของการบินไทย ที่เรียกว่าใหม่ถอดด้ามเพิ่งถอยจากห้างเลยทีเดียว โดยจะเริ่มนำมาทดลองบิน กรุงเทพ-สิงคโปร์ 2 เที่ยวบินต่อวัน ก่อน หลังจากที่รับมอบลำที่ 2 แล้ว การบินไทยจะนำ 787-9 ไปบินในเส้นทางหลักอย่าง กรุงเทพ-โอ๊กแลนด์ แทนที่โบอิ้ง 777-200ER ต่อไป อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้ที่เดือนแรก การบินไทย จะลองนำดรีมไลเนอร์ลำใหม่ ทดลองบิน กรุงเทพ-เชียงใหม่ เหมือนอย่างที่เคยทำมากับเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ใครที่อยากนั่งเครื่องใหม่ ก็ต้องเช็กเที่ยวบินจองตั๋วไว้แต่เนิ่นๆ จะได้ไม่ผิดหวัง...
ภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Thai Airways