นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่พบการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่ผิดปกติในขณะนี้ โดยเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เข้ามาจากต่างประเทศนั้น มาจากมุมมองของความไม่เชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมาจากนโยบายเศรษฐกิจ และสถานการณ์การเมืองในสหรัฐฯ เอง ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่ากับทุกสกุล รวมทั้งค่าเงินบาท ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่ดีขึ้นของไทย คือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่เกินดุลในระดับสูงต่อเนื่อง ทำให้มีเงินไหลเข้าประเทศมากกว่าเงินออกนอกประเทศ และปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีเงินลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) บางรายการเข้ามาลงทุนเฉพาะรายบริษัทในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
“ที่แตกตื่นกันว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นที่หนึ่งในภูมิภาคนั้น ความจริงแล้วระดับการแข็งค่าสูงกว่าประเทศที่ 2 เพียงจุดทศนิยมเท่านั้น และประเทศที่เคยแข็งค่าสูงสุดในภูมิภาค คือเงินวอน เกาหลีใต้อ่อนค่าลงจากเหตุผลความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ในคาบสมุทรเกาหลี แต่ถ้าเทียบกับการอ่อนค่าของดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง 8.4-8.5% ค่าเงินบาทแข็งค่าในขณะนี้ประมาณ 7% กว่าๆ เท่านั้น”
นอกจากนั้น ในขณะนี้ได้มีอีกโครงการหนึ่งที่ร่วมกันระหว่าง ธปท.สมาคมธนาคารไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่จะจัดโครงการเพื่อเป็นการนำร่องให้เอสเอ็มอีเข้าใจการป้องกันความเสี่ยง และได้รับผลดีจากการป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น โดยให้เอสเอ็มอีที่ส่งออกสินค้า สามารถล็อกราคาอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าในวันที่ได้รับเงินค่าสินค้า ซึ่งอาจจะอีก 3 เดือนข้างหน้าได้ โดยไม่ได้มีหลักประกันและค่าธรรมเนียมต่ำมาก และสามารถที่จะใช้ราคาดังกล่าวหรือไม่ใช้ก็ได้ เช่น หากราคาวันนั้นแย่กว่าราคาที่ล็อกก็ให้รับเงินตามราคาที่ล็อก แต่ถ้าราคาที่ได้รับดีกว่าก็สามารถทิ้งการล็อกราคานั้นได้ โดยในเบื้องต้นค่าใช้จ่ายที่ต้องช่วยเหลือ สสว.จะเป็นผู้รับภาระให้ผู้ประกอบการเพื่อช่วยลดความผันผวนของค่าเงินบาท และช่วยให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนในระยะต่อไป.