การรถไฟฯ จ่อปรับค่าโดยสารรถไฟชั้น 1–2 ขึ้นอีก 15–20% หรือ 100–200 บาท ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.นี้ อ้างเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมั่นใจไม่ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร เพราะเจาะตลาดที่มีกำลังซื้อคาดทั้งปีมีอัตราบรรทุกสูงกว่า 80%
ผู้สื่อข่าวรายงานจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท. เตรียมปรับขึ้นค่าโดยสารรถรุ่นใหม่ 115 คันจำนวน 8 ขบวนในอัตรา 15-20% หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 100-200 บาทต่อที่นั่งต่อเที่ยว มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป ซึ่งอัตราค่าโดยสารใหม่จะสะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะรถโดยสารรุ่นใหม่ 115 คันได้เพิ่มบริการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร เช่นหน้าจอแอลซีดี ห้องน้ำระบบปิด การทำความสะอาดและกำจัดแมลงถี่ขึ้น เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะทำให้การรถไฟ มีกำไรเล็กน้อย แต่ราคาใหม่ก็ยังเป็นอัตราที่ผู้โดยสารรับได้และสามารถแข่งขันกับขนส่งระบบอื่นได้ด้วย
สำหรับรถโดยสารรุ่นใหม่ 115 คันนั้นการรถไฟเริ่มเปิดให้บริการใน 4 เส้นทางมาตั้งแต่วัน 11 พ.ย. 59 เป็นต้นมาและเก็บค่าโดยสารในอัตราโปรโมชั่นมาถึงปัจจุบันคือ รถนอนปรับ อากาศชั้น 2 มีอัตราค่าโดยสารระหว่าง 731-945 บาทต่อเที่ยวและรถนอนปรับอากาศชั้น 1 มีอัตราค่าโดยสาร 1,120-1,594 บาทต่อเที่ยว อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาผู้โดยสารก็ให้การตอบรับรถรุ่นใหม่เป็นอย่างดี มีอัตราการบรรทุกเฉลี่ยอยู่ที่ 75-80% สูงกว่าอัตราการบรรทุกผู้โดยสารภาพรวมของการรถไฟ ในปี 59 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 69-70%
นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. นี้ เป็นต้นไป รฟท.จะปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟรุ่นใหม่ 115 คัน เฉลี่ย 100-200 บาทต่อที่นั่ง ทั้ง 4 เส้นทางที่เปิดให้บริการ คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-หนองคาย และกรุงเทพฯ-หาดใหญ่
ทั้งนี้ การปรับค่าโดยสารจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ รถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 1 จะขึ้นราคาเฉลี่ยไม่เกิน 200 บาทต่อที่นั่ง และรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 2 จะปรับขึ้นราคาเฉลี่ยไม่เกิน 100 บาทต่อที่นั่ง เพื่อปรับให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงของการให้บริการ เนื่องจากรถโดยสารขบวนใหม่มีต้นทุนทางด้านอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากขึ้น เช่น ระบบห้องโดยสารที่กว้างขวางสะดวกสบายมากขึ้น ระบบห้องน้ำแบบปิด บริการจอทีวี และบริการเสริมอื่นๆ “การรถไฟฯ ได้เปิดให้บริการรถไฟโดยสารรุ่นใหม่มาตั้งแต่เดือน พ.ย.ปี 59 โดยจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราที่ต่ำ เพราะเป็นช่วงโปรโมชั่นเพื่อให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการ ซึ่งขณะนี้ก็ให้บริการมารวมเป็นเวลา 9 เดือนแล้ว รฟท.เห็นควรว่าจะต้องปรับขึ้นราคาเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ เพราะรถไฟโดยสารรุ่นใหม่ มีตลาดเฉพาะกลุ่มที่พอมีกำลังซื้อ ส่วนรถขบวนเดิมยังไม่มีการปรับราคาแต่อย่างใด”
นายทนงศักดิ์กล่าวถึง อัตราการบรรทุกผู้โดยสารของรถรุ่นใหม่หลังเปิดให้บริการมากว่า 9 เดือนว่า ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ ใช้บริการ โดยขณะนี้มีอัตราบรรทุกในฤดูท่องเที่ยวสูงถึง 85-90% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายอัตราบรรทุกทั้งปีที่คาดการณ์ ส่วนนอกฤดูท่องเที่ยวมีอัตราบรรทุกเฉลี่ย 70-80% ซึ่งถือว่าน่าพอใจ คาดว่าเฉลี่ยทั้งปีนี้จะสูงกว่า 80% แน่นอน อย่างไรก็ตาม รฟท.มีแผนที่จะขยายเส้นทางให้บริการเพิ่มเติมอีกภายใน 3 ปี หลังจากการก่อสร้างทางคู่แล้วเสร็จ เพราะจะทำให้สามารถเพิ่มความถี่ในการโดยสารได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับอัตราค่าโดยสารปัจจุบันของแต่ละเส้นทางและแต่ละประเภท มีดังนี้ 1.เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่-กรุงเทพฯ ประเภทรถนอนปรับอากาศชั้น 2 อัตราค่าโดยสารราคา 791-881 บาท และประเภทรถนอนปรับอากาศชั้น 1 อัตราค่าโดยสารราคา 1,253-1,453 บาท, 2.เส้นทางกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี-กรุงเทพฯ ประเภทรถนอนปรับอากาศชั้น 2 อัตราค่าโดยสารราคา 731-821 บาท ประเภทรถนอนปรับอากาศชั้น 1 อัตราค่าโดยสารราคา 1,120-1,320 บาท 3.เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย-กรุงเทพฯ ประเภทรถนอนปรับอากาศชั้น 2 อัตรา ค่าโดยสารราคา 748-838 บาท ประเภทรถนอนปรับอากาศชั้น 1 อัตราค่าโดยสารราคา 1,157-1,357 บาท, 4.เส้นทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่-กรุงเทพ ประเภทรถนอนปรับอากาศชั้น 2 อัตราค่าโดยสารราคา 855-945 บาท ประเภทรถนอนปรับอากาศชั้น 1 อัตราค่าโดยสารราคา 1,394-1,594 บาท.