'พาณิชย์' แจง 8 โกดังถี่ยิบ หลังร้องเรียนให้รัฐหยุดระบายข้าวเสื่อม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

'พาณิชย์' แจง 8 โกดังถี่ยิบ หลังร้องเรียนให้รัฐหยุดระบายข้าวเสื่อม

Date Time: 30 ก.ค. 2560 13:00 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • กรมการค้าต่างประเทศ แจงยิบ เจ้าของโกดังเก็บข้าวรัฐ 8 แห่ง เรียกร้องให้หยุดขายข้าว หลังพบเป็นข้าวดี แต่รัฐกลับขายเป็นข้าวเสื่อม ทำอาหารสัตว์ ยันข้าวในโกดังทั้ง 8 แห่ง ผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตั้งแต่ปี 57 เปิดขายแล้วแต่ขายไม่หมด

Latest


กรมการค้าต่างประเทศ แจงยิบ เจ้าของโกดังเก็บข้าวรัฐ 8 แห่ง เรียกร้องให้หยุดขายข้าว หลังพบเป็นข้าวดี แต่รัฐกลับขายเป็นข้าวเสื่อม ทำอาหารสัตว์ ยันข้าวในโกดังทั้ง 8 แห่ง ผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตั้งแต่ปี 57 เปิดขายแล้วแต่ขายไม่หมด เก็บต่อจนปัจจุบัน คุณภาพเสื่อมลงมาก

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเสนอข่าวเจ้าของโกดังเก็บข้าวในสต็อกรัฐบาล 8 แห่ง เรียกร้องรัฐบาลระงับการระบายข้าวดังกล่าว เพราะเป็นข้าวคุณภาพดี คนยังสามารถบริโภคได้ แต่รัฐบาลกลับขายเป็นอาหารสัตว์ ทำให้ได้ราคาต่ำนั้น

ทั้งนี้ ตั้งแต่รัฐบาลนี้บริหารประเทศเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 ได้ตรวจนับปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือจากการรับจำนำของรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยการลงพื้นที่ของคณะทำงาน 100 ชุด ซึ่งมีผู้ตรวจราชการจากทุกกระทรวงเป็นหัวหน้าชุด โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งผลการตรวจสอบออกมาเช่นใด จะถือว่าเป็นคุณภาพของสินค้านั้นทั้งกอง และจะยึดถือผลนี้เป็นเกณฑ์ โดยมีผู้แทนเจ้าของคลัง และบริษัทผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว (บริษัทเซอร์เวย์) หรือผู้แทนร่วมรับทราบ และลงนามรับรองในเอกสารกำกับตัวอย่างข้าว และรายงานผลการปฏิบัติงานโดยตลอด ซึ่งไม่มีข้อโต้แย้งในขณะปฏิบัติงานแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ข้าวในคลังบางแห่งได้นำมาเปิดประมูลแล้ว แต่ยังขายไม่หมดและเหลือเก็บมาจนถึงปี 60 ซึ่งคุณภาพข้าวเสื่อมลงจากในปี 57 มาก ดังนั้นในช่วงต้นปี 60 นบข. จึงมีมติทบทวน และปรับแนวทางการระบาย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สภาพข้าว และสภาพคลัง โดยได้จัดกลุ่มข้าวเพื่อการระบายเป็น 3 กลุ่ม ตามคุณภาพข้าว เพื่อแยกช่องทางการตลาดให้ชัดเจน

โดยขายแบบยกคลัง ดังนี้ กลุ่มที่ 1 เป็นข้าวทั่วไปเพื่อการบริโภค กลุ่มที่ 2 เป็นข้าวระบายเข้าสู่อุตสาหกรรม ที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคน และกลุ่มที่ 3 เป็นข้าวระบายเข้าสู่อุตสาหกรรม ที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์

สำหรับคลังทั้ง 8 แห่งที่เจ้าของเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการระบายข้าวนั้น มี 5 คลัง ที่จัดเป็นข้าวกลุ่มที่ 2 เพราะมีสัดส่วนข้าวผิดมาตรฐานมาก หรือ มีข้าวเสื่อมปนอยู่เกิน 20% และอีก 3 คลังจัดเป็นข้าวกลุ่มที่ 3 เพราะมีข้าวผิดมาตรฐาน หรือข้าวเสื่อมปนอยู่มากกว่า 80% และเป็นข้าวที่มีอายุการเก็บรักษาเกินกว่า 5 ปี

"ที่ผ่านมา กรมฯ มีหนังสือตอบ ชี้แจงข้อร้องเรียนเรื่องคุณภาพข้าวให้เจ้าของคลัง โรงสี เซอร์เวย์ ที่รับผิดชอบคุณภาพข้าวทราบโดยตลอด อีกทั้งคลังดังกล่าวยังถูกองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ฟ้องดำเนินคดีเรื่องข้าวไม่ได้คุณภาพ"

อย่างไรก็ตาม แม้การระบายข้าวในคลังทั้ง 8 แห่ง ได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามมติ นบข. เสร็จสิ้นแล้ว และเจ้าของคลังมีสิทธิโต้แย้งแสดงข้อเท็จจริงต่อสู้ตามกฎหมายได้ แต่ไม่มีสิทธิยับยั้ง ไม่ให้รัฐขายข้าวของรัฐ เพราะหากไม่ระบายออกไป จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ และกรณีให้ตรวจสอบคุณภาพใหม่นั้นขณะนี้ได้เลยขั้นตอนดังกล่าวมานานแล้ว เพราะได้ตรวจสอบคุณภาพข้าวมาตั้งแต่ปี 57 ผลการตรวจ็เป็นที่รับทราบต่อสาธารณชน และเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินการใหม่ตามที่เรียกร้อง

นางดวงพร กล่าวต่อว่า การระบายข้าวในสต็อกของรัฐกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 นบข. ได้ให้ความสำคัญในการกำกับดูแลข้าวดังกล่าว เพื่อป้องกันการรั่วไหลเข้าสู่ระบบการค้าปกติมาตั้งแต่แรก โดยได้มอบหมาย อคส. และ อ.ต.ก. กำหนดมาตรการและดำเนินการบริหารจัดการควบคุมให้นำข้าวไปใช้ในอุตสาหกรรม ที่ผู้ซื้อระบุอย่างเคร่งครัด และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายข้าวในสต็อก เพื่อติดตามการปฏิบัติงานของทั้งสองหน่วยงานด้วย

นอกจากนี้ การระบายข้าวในสต็อกของรัฐที่มีมากถึง 17.76 ล้านตัน และคุณภาพส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน นบข. จึงต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบในหลายมิติ การระบายจะต้องพิจารณาช่องทาง และเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อจิตวิทยาตลาด และราคาข้าวที่เกษตรกรจะได้รับจากการขายข้าวเปลือกฤดูกาลผลิตใหม่ ที่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องทุกปี รวมทั้งผลกระทบต่อตลาดข้าวสุขอนามัยของมนุษย์และสัตว์ ชื่อเสียงและคุณภาพข้าวไทย เพื่อให้สภาพการค้าข้าวไทยกลับมาสู่ภาวะปกติ เป็นไปตามกลไกตลาดโดยเร็ว

"เรื่องราคาข้าวที่ขายได้ ไม่ใช่เรื่องหลักในการตัดสินใจระบาย แต่ประเด็นสำคัญคือ ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้ เนื่องจากราคารับจำนำของรัฐบาลก่อนสูงกว่าราคาตลาดมาก และมีภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการรับจำนำสูงมาก การขาดทุนจึงเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการรับจำนำแล้ว อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าเหตุใดในช่วงเวลานี้จึงหยิบยกเรื่องการระบายข้าว เรื่องคลัง และผลการตรวจสอบคุณภาพข้าวมาวิพากษ์วิจารณาอย่างบิดเบือนข้อเท็จจริง ให้สังคมเกิดความสับสน เพราะตลอด 3 ปีที่ผ่นมา กรมฯ ได้ชี้แจงให้ผู้ประกอบการและชี้แจงผ่านสื่อมวลชนให้สาธารณชนทราบอย่างโปร่งใสมาอย่างต่อเนื่อง".


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์