ลูกจ้างไม่เข้าใจการลงทุน! ห่วงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่พอใช้ยามแก่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ลูกจ้างไม่เข้าใจการลงทุน! ห่วงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่พอใช้ยามแก่

Date Time: 26 ก.ค. 2560 06:01 น.

Summary

  • บลจ.ซีไอเอ็มบีชี้คนไทยออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่พอใช้วัยเกษียณ ลูกจ้างหรือสมาชิกกองทุนไม่มีความรู้ด้านการลงทุน ทำให้เลือกนโยบายการลงทุนที่ไม่เหมาะสม เน้นลงทุนตราสารหนี้ได้ผลตอบแทนต่ำ

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

บลจ.ซีไอเอ็มบีชี้คนไทยออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่พอใช้วัยเกษียณ ลูกจ้างหรือสมาชิกกองทุนไม่มีความรู้ด้านการลงทุน ทำให้เลือกนโยบายการลงทุนที่ไม่เหมาะสม เน้นลงทุนตราสารหนี้ได้ผลตอบแทนต่ำ เร่งเดินสายสร้างความรู้ความเข้าใจนายจ้าง-ลูกจ้าง เพื่อปรับเปลี่ยนการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนระยะยาวดีขึ้นมีเงินพอใช้ยามเกษียณ

นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการ (บลจ.) กองทุนซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เปิดเผยว่า สถานการณ์การออม เพื่อวัยเกษียณในปัจจุบันยังไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุมกับประชากรวัยแรงงานที่มีจำนวน 38 ล้านคน โดยพบว่าการออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นการออมภาคสมัครใจระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ตัวเลขล่าสุดเดือน มี.ค.60 มีนายจ้างตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงานเพียง 17,947 บริษัท คิดเป็น 2.7% ของจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ 659,766 ราย มีสมาชิกที่เป็นพนักงานเพียง 3 ล้านคน มีเงินออมในกองทุนเฉลี่ยคนละ 300,000 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบว่าลูกจ้างจำนวนมากไม่มีความรู้ด้านการลงทุน ทำให้เลือกนโยบายการลงทุนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งหากเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับช่วงอายุจะช่วยให้ผลตอบแทนมากขึ้น นอกจากนี้ หากออมเพิ่มขึ้นจะทำให้เงินออมมีเพียงพอสำหรับวัยเกษียณมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า พนักงานที่ไม่เข้าใจการลงทุน มักจะเลือกลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้สูงถึง 90-100% ซึ่งเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ต่ำ ทำให้โดยเฉลี่ยแล้วตลอดการออมจะมีผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำเพียง 2-3% ต่อปีเท่านั้น เงินที่ได้รับหลังเกษียณไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพแน่นอน

แต่หากลงทุนในกองทุนที่จัดสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้มีความเสี่ยงและผลตอบแทนเหมาะกับแต่ละช่วงอายุ จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยตลอดอายุการลงทุนที่สูงขึ้น บริษัทจึงได้จัดทำแผนการลงทุนแบบสมดุลตามอายุ โดยอายุน้อยจะลงทุนในหุ้นมากที่สุด ตามแผนกำหนดลงทุนในหุ้นอย่างน้อย 50% ตราสารหนี้ 30% กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 20% ที่เหลือลงทุนในกองทุนรวมทองคำ เพราะการลงทุนในหุ้นระยะยาวมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงสุด แม้มีความเสี่ยงสูง และจะลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงเมื่ออายุมากขึ้นตามลำดับ

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า หากเริ่มลงทุนตั้งแต่อายุ 22 ถึง 60 ปี โดยมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 15,000 บาท มีอัตราการปรับขึ้นเงินเดือนปีละ 5.50% พนักงานใส่เงินออม 5.45% ของเงินเดือนและนายจ้างสมทบอีก 5.78% ของเงินเดือน (ตัวเลขเงินออมและเงินสมทบนี้เป็นตัวเลขเฉลี่ยปัจจุบันที่ลูกจ้างและนายจ้างใส่เงินออมและสมทบในระบบกองทุนสำรองเลี้ยง-ชีพ) และเลือกลงทุนในกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก ซึ่งให้ผลตอบแทนเพียง 2-3% ต่อปี เมื่อเกษียณอายุที่ 60 ปีจะมีเงินออมเพียง 4.04 ล้านบาท

แต่หากเปลี่ยนเป็นเลือกลงทุนในกองทุนที่มีแผนลงทุนแบบสมดุลตามอายุ ผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 7% ต่อปี เมื่อเกษียณอายุจะมีเงินออม 8.84 ล้านบาท และหากลูกจ้างคนดังกล่าวเพิ่มสัดส่วนการออมใส่กองทุนเป็น 15% ของเงินเดือน (กฎหมายที่แก้ไขปี 58 เปิดให้ลูกจ้างออมเงินเพิ่มสูงกว่านายจ้างได้ อยู่ในอัตราที่ 2-15% ของเงินเดือน) และลงทุนในกองทุนแบบสมดุลอายุ เมื่ออายุ 60 ปี ลูกจ้างจะมีเงินออมทั้งสิ้น 16.35 ล้านบาท

นายวินกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ออกเสนอขายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ลงทุนแบบสมดุลตามอายุทั้ง 6 กองพบว่าได้รับผลตอบรับที่ดี มูลค่าทรัพย์สินของกองทุนเติบโตมากกว่า 10 เท่าจากสิ้นปี 58 มาอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีจะทำได้ 4,000 ล้านบาท แต่ยังถือเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริษัทบริหารอยู่กว่า 50,000 ล้านบาท ดังนั้น ทางทีมงานจะเข้าไปให้ความรู้พนักงานและนายจ้างเพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญของการปรับพอร์ตการลงทุน ซึ่งจะช่วยให้พนักงานมีเงินไว้ใช้ยามเกษียณอย่างเพียงพอ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ