หนี้ ธปท.ไม่ใช่หนี้สาธารณะ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

หนี้ ธปท.ไม่ใช่หนี้สาธารณะ

Date Time: 18 ก.ค. 2560 05:01 น.

Summary

  • สบน. แจงเหตุแก้ไข พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ หวังให้การบริหาร และนับหนี้ของไทยเป็นสากลมากขึ้น ยันไม่นับรวมหนี้ ธปท.เป็นหนี้สาธารณะ เพราะไม่มีประเทศใดในโลกนับรวมหนี้ภาคการเงินด้วย นับเฉพาะหนี้ภาคการคลังเท่านั้น

Latest

“เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ในประเทศไทย จังหวัดไหนบ้าง? ที่ทำเลมีศักยภาพ พร้อมให้ทุนใหญ่ลงทุน

สบน.ยันแก้กฎหมายหวังความเป็นสากล

สบน. แจงเหตุแก้ไข พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ หวังให้การบริหาร และนับหนี้ของไทยเป็นสากลมากขึ้น ยันไม่นับรวมหนี้ ธปท.เป็นหนี้สาธารณะ เพราะไม่มีประเทศใดในโลกนับรวมหนี้ภาคการเงินด้วย นับเฉพาะหนี้ภาคการคลังเท่านั้น ย้ำชัดตัดหนี้ ธปท.ออก ไม่ทำให้หนี้สาธารณะลดลง พร้อมทำแผนกู้เงินรถไฟไทย–จีนก้อนแรก 1.7 พันล้านบาท

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยถึงการแก้ไข พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะว่า ล่าสุดอยู่ระหว่างการส่งเรื่องไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาก่อนให้มีผลบังคับใช้ต่อไป สำหรับสาระของการแก้ไขมี 3 ประเด็น คือ 1.แก้ไขนิยาม “หนี้สาธารณะ” โดยไม่นับรวมหนี้ของหน่วยงานภาคการเงิน ได้แก่ หนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหนี้รัฐวิสาหกิจ ที่ทำธุรกิจบริหารสินทรัพย์และธุรกิจประกันสินเชื่อที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน และแก้ไขนิยาม “รัฐวิสาหกิจ” โดยตัดรัฐวิสาหกิจประเภท (ค) ได้แก่ บริษัท จำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด 2.ปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลหนี้สาธารณะ เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีส่วนร่วมพิจารณาแผนกู้เงิน และบริหารหนี้รัฐวิสาหกิจ 3.ปรับปรุงการดำเนินงานของกองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ (กองทุนฯ) โดยขยายกรอบการลงทุนให้มากขึ้น

สำหรับหนี้เงินกู้ของ ธปท. ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะตามกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะตั้งแต่แรก เพราะ ธปท.เป็นรัฐวิสาหกิจ ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน โดยกระทรวงการคลังมิได้ค้ำประกัน แต่เนื่องจากปี 51 ธปท.แก้ไขกฎหมาย ทำให้ ธปท.เปลี่ยนสถานะจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นหน่วยงานรัฐ ส่งผลกระทบต่อสถานะและการนับหนี้ของ ธปท. ภายใต้กฎหมายนี้ จึงต้องแก้ไขกฎหมายประเด็นดังกล่าวให้ชัดเจน และโดยหลักการแล้วหนี้เงินกู้ของ ธปท.เกิดจากการออกพันธบัตร และการดูดซับสภาพคล่องของระบบการเงิน เพื่อดำเนินนโยบายการเงินในฐานะธนาคารกลาง ไม่ได้นำมาลงทุน จึงไม่นับเป็นหนี้สาธารณะอยู่แล้ว สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของธนาคารกลางทั่วไป โดย ณ สิ้นเดือน พ.ค.60 ธปท.มีหนี้เงินกู้ 4.26 ล้านล้านบาท ส่วนหนี้สาธารณะคงค้าง มี 6.347 ล้านล้านบาท คิดเป็น 42.90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นสุทธิ 79,903 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

“พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ที่ตัดหนี้ ธปท.ออก ไม่มีผลทำให้หนี้สาธารณะลดลง แต่แก้ไขคำนิยามหนี้สาธารณะให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะปี 48 ที่กำหนดว่า หนี้สาธารณะเกิดจากภาคการคลัง ไม่นับหนี้ภาคการเงิน ซึ่งการแก้ไขกฎหมายจึงเป็นไปตามหลักสากล และที่ผ่านมา ไม่มีประเทศไหนนับหนี้ภาคการเงินของธนาคารกลางเป็นหนี้สาธารณะด้วย ส่วนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯตามนิยาม ถือเป็นนิติบุคคล ถือเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงนับหนี้กองทุนฯเป็นหนี้สาธารณะด้วย”

นายธีรัชย์กล่าวอีกว่า ในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ สบน.จะลงนามในสัญญาเงินกู้ 1,700 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าศึกษาการออกแบบก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายในโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) วงเงินรวม 179,413 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลังจากมีความชัดเจนเรื่องไทม์ไลน์การก่อสร้าง รายละเอียดของแบบ และการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว สบน.จึงจะพิจารณาแนวทางกู้เงินทั้ง 179,413 ล้านบาท โดยพิจารณาจากสภาพคล่องในประเทศเป็นอันดับแรก คาดว่า สภาพคล่องของไทยรองรับการกู้เงินในประเทศได้ 70-80% ของเงินลงทุนรวม.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ