(แฟ้มภาพ)
บอร์ดบินไทย อนุมัติจัดหาเครื่องบินใหม่ 28 ลำ เปิดจุดบินใหม่กรุงเทพฯ-เวียนนา เพิ่มความถี่เส้นทางบินยุโรป หวังยึดหัวหาดแทนเส้นสหรัฐฯ ที่ไม่รู้ชะตากรรม จ่อร่อนบิลเก็บค่าเสียหายเครื่องยนต์โบอิ้ง 787 มีปัญหา ส่งผลกระทบจนต้องหยุดบริการบางสายในช่วงที่ผ่านมา
ร.อ.มนตรี จำเนียร รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยหลังการประชุมบอร์ดการบินไทยว่า ที่ประชุมอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ในช่วง 5 ปี (ระหว่างปี 60-64) ตามที่ฝ่ายบริหารเสนอ ด้วยการให้จัดหาเครื่องบินใหม่แทนเครื่องบินเก่าจำนวน 28 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินของการบินไทย 19 ลำ ส่วนที่เหลืออีก 9 ลำเป็นของไทยสมายล์ โดยให้ไปศึกษารายละเอียด ข้อเสนอผู้ผลิตและผู้ใช้เช่าเครื่องบินที่ดีที่สุด รวมทั้งแผนการเงินที่การบินไทยมีอยู่ในปัจจุบันและอีก 5 ปีข้างหน้าว่ารองรับได้มั้ย คาดว่าในเดือน ส.ค.นี้จะเสนอแบบเครื่องบิน ราคาเครื่องบิน รวมถึงแผนรายได้และผลดีผลเสียการจัดซื้อและเช่าให้บอร์ดพิจารณาอนุมัติ
ทั้งนี้ หากมีการเห็นชอบจะเสนอเรื่องไปที่กระทรวงคมนาคม คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 เดือน กว่าจะเข้า ครม.อนุมัติ หรือในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งหลัง ครม.อนุมัติ การเจรจาต่อรองกับเอกชนถึงจะเกิดขึ้น หลังจากทำสัญญาบริษัทฯ จะรับมอบเครื่องบินลำแรกภายใน 18 เดือน หรือประมาณปลายปี 62 อย่างเร็วที่สุด ส่วนแผนจัดหาเครื่องบินในช่วง 5 ปีหลัง (65-69) จำนวน 22 ลำ ยังไม่อนุมัติ เพราะการสร้างรายได้ยังไม่แน่นอน”
ร.อ.มนตรีกล่าวต่อว่า ส่วนเครื่องบินโบอิ้ง 787 จำนวน 6 ลำที่มีปัญหาเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์นั้น ซ่อมเสร็จไปแล้ว 1 ลำ และในเดือน ก.ค.นี้จะจอดเครื่องพร้อมกัน 3 ลำ และในเดือน ส.ค.นี้จะจอดเครื่องบิน 2 ลำในบางช่วงเวลา และนำเครื่องยนต์ดีติดแทนในช่วงระหว่างการนำอะไหล่ส่งซ่อมที่สิงคโปร์ และเดือน ก.ย.ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนค่าใช้จ่ายและผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งในส่วนที่เป็นเงินสดและไม่ใช่เงินสด ในเดือน ก.ย.จะรวบรวมแจงบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ได้ทั้งหมด โดยการบินไทยได้รับผลกระทบตั้งแต่เดือน มิ.ย. โดยเดือน ก.ค.หนักสุด เส้นทางบินที่หยุดบริการคือเส้นทางกรุงเทพฯ-นาโกยา 1 เที่ยวบิน กรุงเทพฯ-สิงคโปร์ 4 เที่ยวบิน จากปกติที่ให้บริการ 10 เที่ยวบินต่อวัน ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ให้ไทยสมายล์ทำการบินแทน และในเดือน ส.ค.นี้ไทยสมายล์ยังต้องให้บริการบินแทนเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-กระบี่ และกรุงเทพฯ-ภูเก็ต
ที่ประชุมอนุมัติยังเปิดเส้นทางบินใหม่คือ กรุงเทพฯ-เวียนนา 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพราะจากการศึกษาข้อมูลเชื่อว่าจะเป็นทางที่มีศักยภาพ รวมทั้ง จะเป็นจุดเครือข่ายด้านการบินของการบินไทยในยุโรปตะวันออก และเพิ่มความถี่ในเส้นทางกรุงเทพฯ-บรัสเซลส์ กรุงเทพฯ-โรม มิลาน กรุงเทพฯ-มอสโก และกรุงเทพฯ-สแกนดิเนเวีย จาก 4-5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบิน โดยที่ผ่านมาเครือข่ายการบินระหว่างทวีป มียุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ แต่ขณะนี้เหลือเพียง 2 ทวีป และไม่รู้เส้นทางสหรัฐฯ จะกลับมาเมื่อไหร่ จำเป็นต้องทำที่มีอยู่ให้แข็งแกร่ง โดยผู้โดยสารนอกจากจะไปเวียนนาแล้วยังไปตะวันออกกลาง เพื่อไปช็อปปิ้ง ท่องเที่ยว ขณะที่อนาคตมองไปที่แอฟริกาเหนือ แต่กลุ่มเป้าหมายสัดส่วน 40% อยู่ในภูมิภาคนี้และอินโดจีน ที่เหลือลูกค้าจากยุโรปตะวันออก 60%
นางวรางคณา ลือโรจน์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายครัวการบิน บริษัทการบินไทย กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดอนุมัติขยายครัวการบินใช้งบลงทุน 95 ล้านบาท เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหาร และขยายฐานลูกค้าในต่างประเทศ เช่น จีน เพื่อต่อยอดธุรกิจ โดยคาดว่าจะผลิตอาหารเพิ่มได้อีก 3,500-5,000ชุดต่อวัน จากปกติที่ผลิตได้ 10,000 ชุดต่อวัน คาดว่าจะทำให้มีรายได้เพิ่มเป็น 250 ล้านบาท จากปัจจุบันมีรายได้ 150 ล้านบาท โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 7,600 ล้านบาท และในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีรายได้ประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท.