จากกรณี บุคลากรระดับสูง ของสำนักงานประกันสังคม ได้ใช้บริการชั้นโดยสาร ชั้นหนึ่ง หรือ เฟิร์สคลาส (First Class) ในการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อศึกษาดูงาน โดยหลังจาก ข่าวนี้ถูกเปิดเผยออกมา ก่อให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างรุนแรง เพราะหลายคนมองว่า เป็นการใช้จ่ายเงินของกองทุน ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม
เนื่องจากกองทุนประกันสังคม เป็นเงินออมที่บังคับเรียกเก็บจากผู้ประกันตน สมทบโดยนายจ้าง และรัฐ ซึ่งควรถูกใช้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกันตนทุกคน ไม่ใช่เพื่อความสะดวกสบายของบุคลากรภายในองค์กร
ท่ามกลางกระแสข่าวความกังวลต่างๆ ที่เสียงดังเรื่อยๆ ว่า กองทุนประกันสังคม เสี่ยง”จะ ล้ม" ในอีกไม่นาน หรือ เกิดปัญหาทางการเงินใหญ่ๆ ในอนาคต จากปัญหาการบริหารจัดการและความยั่งยืนทางการเงินในระยะยาว
เนื่องจากเดิมที กองทุนประกันสังคม มีปัญหา ขาดดุลงบประมาณ อยู่ก่อนแล้ว จากจำนวนผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่าจำนวนคนที่ต้องการใช้ประโยชน์จากกองทุน (เช่น การรักษาพยาบาล หรือเงินชราภาพ) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่จำนวนคนที่จ่ายเงินเข้าไปในกองทุนอาจไม่เพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะในกรณีที่จำนวนคนทำงานในระบบประกันสังคมลดลงจากการลดอัตราการเกิดหรือการย้ายถิ่นของแรงงาน
โดยข้อมูลออกมาว่า ถ้าประกันสังคม ไม่ปรับปรุงใดๆ กองทุนบำนาญ จะหมดภายใน 30 ปี จากนั้นต้องขึ้นเงินสมทบแบบก้าวกระโดด เพื่อให้พอจ่ายเป็นรายปี
ขณะเดียวกัน การบริหารจัดการการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ก็เป็นอีกหนึ่งความกังวล ที่มีการพูดถึงกันมาก ว่าที่ผ่านมา กองทุน ได้มีการลงทุน ในธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าหรือไม่ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของกองทุนได้
ล่าสุด ยิ่งตอกย้ำ เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับการใช้เงินในทางที่ไม่คุ้มค่า หรือ การบริหารที่ไม่โปร่งใส ก็อาจทำให้กองทุนขาดประสิทธิภาพในการใช้จ่าย และเสี่ยงต่อการขาดสภาพคล่อง เกิดการตั้งคำถาม และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและโปร่งใสมากขึ้นในการใช้งบประมาณของกองทุนที่มาจากเงินของประชาชน
สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของ กลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า ที่เตรียมเสนอกฎหมาย นำประกันสังคมออกนอกระบบราชการ เพื่อสร้างความโปร่งใส และดึงคนมีศักยภาพเข้ามาบริหารจัดการแทน
ในประเด็นเดียวกัน ในฝั่งของนักวิชาการก็มีการกล่าวถึงในลักษณะไม่แตกต่างกัน โดย รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวนการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า แม้ กองทุนประกันสังคม ถูกออกแบบไว้อย่างดี เพื่อให้เกิดการจ่ายสมทบแบบมีส่วนร่วมจากสามฝ่ายลูกจ้าง นายจ้างและรัฐบาล จึงเป็น “กองทุน” ของสาธารณชนโดยโครงสร้างเงินสมทบ และ ทำให้ประชาชนมีวัฒนธรรมการออมที่เข้มแข็งอีกด้วย
ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคม ที่เปรียบเหมือนเป็น เสาหลักของระบบสวัสดิการสำหรับผู้ใช้แรงงาน การบริหารกองทุนให้มีประสิทธิภาพ มีความคล่องตัว โปร่งใส มีธรรมาภิบาล จึงสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน เสถียรภาพของผู้ประกอบการ และความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของรัฐ
เห็นด้วย กับการปฏิรูปประกันสังคมสู่องค์กรของรัฐที่ไม่ใช่ราชการเป็นองค์กรที่บริหารงานได้แบบแบงก์ชาติ กลต. หรือ กบข. ควรถูกนำมาศึกษาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
การพัฒนา “กองทุนประกันสังคม” ให้เป็น “องค์กรของรัฐ” ที่ไม่ใช่ส่วนราชการอาจจำเป็นสำหรับอนาคตของสังคมไทย รัฐบาลต้องมอบความเป็นอิสระให้กับ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประกันสังคม ในการบริหารกองทุนประกันสังคมและปกป้องจากการแทรกแซงของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง เพื่อให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพต่อกองทุน และ เปิดให้มีส่วนร่วมจากผู้แทนผู้ประกันตนและนายจ้างที่มาจากการเลือกตั้ง ในการกำกับดูแลนโยบายได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า เรื่องการใช้จ่ายของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐในทางที่ไม่เหมาะสม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น
เพราะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับประเทศไทยมาเนิ่นนาน ในแง่ของการบริหารจัดการงบประมาณ และมันสะท้อนถึงการจัดสรรทรัพยากรภาครัฐที่อาจจะไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาวได้
ไม่นับรวม ข้อมูลที่ชวนคิดต่อ จากงบประมาณรายจ่ายของบุคลากรภาครัฐของประเทศไทย ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆปี และ หากคิดเป็นสัดส่วนจะสูงมากถึง 6% ต่อ GDP
อ้างอิงการรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีบุคลากรภาครัฐสูงราว 3 ล้านคน หรือ เป็นสัดส่วนราว 7% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ที่สำคัญ คือ สูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน เช่น
สำหรับบุคลากรภาครัฐนั้น ประกอบไปด้วย
1.ข้าราชการ
2.พนักงานรัฐอื่นๆ เช่น พนักงานจ้าง/พนักงานข้าราชการ ,ลูกจ้างประจำ ,พนักงานรัฐวิสาหกิจ และ อื่นๆ
รายงานในชุดเดียวกัน ยังเผยว่า งบประมาณรายจ่ายของบุคลากรภาครัฐคิดเป็น 1 ใน 3 ของงบรายจ่ายรวม ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โตเฉลี่ย 3% ต่อปี โดยปี 2568 งบประมาณรายจ่ายของบุคลากรภาครัฐ 1.2 ล้านล้านบาท
ประกอบไปด้วย งบบุคลากร (เงินเดือน) ,ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ /พนักงานรัฐ ,เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ รวมไปถึง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น เงินสำรองชดเชย สมทบข้าราชการ เงินเลื่อนเงินเดือน /ปรับวุฒิ เป็นต้น
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney