เป็นหนึ่งในอีเวนต์ที่จับตากันมากที่สุดในสัปดาห์นี้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สัปดาห์สุดท้ายของเดือนแห่งความรัก วันพุธที่ 26 ก.พ.หรือวันพรุ่งนี้ ท่ามกลางเสียงที่แตกออกเป็น 2 ฝ่าย
แน่นอนว่า ฝ่ายที่อยากให้ กนง.พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง คือ ฝั่งรัฐบาล สัปดาห์ที่ผ่านมา “นายกฯอิ๊งค์” ได้ออกมาย้ำ “ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลงมือช่วยรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตเหนือศักยภาพที่ 3.5%”
ขณะเดียวกันยังมีสัญญาณจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่อยากให้ กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก หลังจากที่ลดลงแล้ว 1 ครั้งถ้วนในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา 0.25% โดยไอเอ็มเอฟมองว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าเพื่อนบ้าน และการฟื้นตัวที่ช้าดังกล่าวมีผลต่อรายได้ และการชำระหนี้ ในภาวะที่คนไทยส่วนใหญ่มีหนี้ครัวเรือนสูง
อย่างไรก็ตาม การแถลงล่าสุดของเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แสดงความกังวลถึงความไม่แน่นอนที่จะเข้ามากระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตที่จะมีสูงมาก ขณะที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยโลก โดยเฉพาะดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะไม่ลดลงเร็วอย่างที่คาดไว้ก่อนหน้า
เลขาสภาพัฒน์ฯ จึงมองว่าการประชุม กนง.ครั้งนี้ควรเก็บกระสุนไว้ใช้ เมื่อยามที่เราอับจนกว่านี้ โดย “เชื่อว่า กนง.จะมีการคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ก่อน เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า”
ขณะที่ความคิดเห็นของสำนักวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์ ส่วนใหญ่มองว่า กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี หลังจากนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์ ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทยแล้ว สอดคล้องกับนักเศรษฐศาสตร์บางส่วน มองว่าจะลดลงในช่วงไตรมาสที่ 3 ก่อนผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบัน “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ลงจากตำแหน่ง
คำถามคือ ลดดอกเบี้ยนโยบายจะได้ประโยชน์อะไร ข้อแรก ทำให้คนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้นหรือไม่ คำตอบก็คือ “ไม่” เพราะนโยบายแบงก์ส่วนใหญ่ชัดเจนมากในการระวังการปล่อยสินเชื่อ แบงก์ใหญ่พอใจการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็นศูนย์ หรือบวกน้อยๆในปีนี้ ข้อที่ 2 การลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยให้รายได้คนไทยเพิ่มขึ้นถาวร อย่างไรก็ตาม ในข้อที่ 3 และข้อที่ 4 การลดดอกเบี้ยจะช่วยลดภาระของลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งส่วนใหญ่คือ การผ่อนบ้านลงได้ และทำให้คนหันมาใช้จ่าย ซื้อของ และลงทุนในตลาดทุนเพิ่มขึ้น หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยฝากลดลง ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
ตอบคำถามที่ว่า ความร่วมมือที่เหมาะสมในการกระตุ้นเศรษฐกิจควรเป็นอย่างไร คำตอบคือ ควรใช้การลดดอกเบี้ยเพื่อพยุง เมื่อเศรษฐกิจเกิดภาวะ “ช็อก” จากปัจจัยเสี่ยงที่รุนแรง เพื่อให้รัฐบาลมีเวลาหามาตรการเชิงโครงสร้างมารองรับ และสร้างมิติในการขยายตัวรอบใหม่กลับขึ้นมา ซึ่งอาจจะลดต่อเนื่องได้ แต่ไม่ควรหวังที่จะใช้ดอกเบี้ยเพื่อสร้างผลกระตุ้นในระยะสั้นๆ ต่อเวลาหายใจไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบ เพราะสุดท้ายจะก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี.
มิสเตอร์พี
คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม