ยอดขายรถปี 67 ลดฮวบทุกตลาด แพ้พิษเศรษฐกิจบักโกรก-ดอกเบี้ยสูง-ไฟแนนซ์คุมสินเชื่อ

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ยอดขายรถปี 67 ลดฮวบทุกตลาด แพ้พิษเศรษฐกิจบักโกรก-ดอกเบี้ยสูง-ไฟแนนซ์คุมสินเชื่อ

Date Time: 31 ม.ค. 2568 09:19 น.

Summary

  • บิ๊กโตโยต้าเผยยอดขายรถยนต์รวมทุกยี่ห้อในไทยปีที่แล้วแค่ 5.7 แสนคัน ลดวูบทุกประเภท เหตุเศรษฐกิจชะลอตัว ดอกเบี้ยแพง และไฟแนนซ์คุมเข้มสินเชื่อ ลุ้นใหม่! ยอดขายรถปีนี้ขอให้โดน 6 แสนคัน

Latest

กลุ่มมั่งคั่งในไทยใกล้แตะ1.6 แสนคน ดัน รร.นานาชาติ โตแรง ค่าเทอมหลักแสน ถึง สูงสุด 1 ล้านบาท/ปี 

บิ๊กโตโยต้าเผยยอดขายรถยนต์รวมทุกยี่ห้อในไทยปีที่แล้วแค่ 5.7 แสนคัน ลดวูบทุกประเภท เหตุเศรษฐกิจชะลอตัว ดอกเบี้ยแพง และไฟแนนซ์คุมเข้มสินเชื่อ ลุ้นใหม่! ยอดขายรถปีนี้ขอให้โดน 6 แสนคัน

นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงสถิติการจำหน่ายรถยนต์ปี 2567 พร้อมคาดการณ์ตลาดรถยนต์ไทยปี 2568 ว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2567 ยังคงอยู่กับสถานการณ์ที่ท้าทายเป็นอย่างมาก จากสภาวะโดยรวมและทิศทางของตลาดในปีที่ผ่านมา สะท้อนมายังตลาดรถยนต์ในประเทศ โดยมีตัวเลขยอดขายรถยนต์รวมทุกประเภทและทุกยี่ห้อในปี 2567 อยู่ที่ 572,675 คัน หรือลดลง 26.2% เมื่อเทียบกับปี 2566 ประกอบด้วยยอดขายจากรถยนต์นั่ง 224,148 คัน ลดลง 23.4% และรถเพื่อการพาณิชย์ 348,527 คัน ลดลง 27.9% สำหรับรถกระบะ 1 ตัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ อยู่ที่ 200,190 คัน ลดลง 38.4%

ทั้งนี้ มีปัจจัยหลากหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกำลังซื้อที่ลดลงตามสถานการณ์ปัจจุบันของเศรษฐกิจ รวมถึงค่าครองชีพ อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ทรงตัวสูง ตลอดจนความเข้มงวดของมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยอื่นๆที่น่าสนใจ ซึ่งส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปีที่ผ่านมา อาทิ การที่ตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะรถยนต์ไฮบริด (HEV) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เป็นแรงส่งสำคัญในช่วงที่ตลาดยังไม่ฟื้นตัว เห็นได้จากการที่รถยนต์ไฮบริดในไทยมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 29% แสดงให้เห็นถึงทางเลือกเทคโนโลยีของผู้บริโภคที่หลากหลายขึ้น

สำหรับยอดขายของโตโยต้าในปี 2567 มียอดขายโดยรวมอยู่ที่ 220,356 คัน หรือลดลง 17.1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หากแต่ยังคงความเป็นผู้นำตลาด ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 หรือเท่ากับ 38.5% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความนิยมของรถในกลุ่มอีโคคาร์ของโตโยต้าที่เป็นส่วนหนึ่งของตลาดรถยนต์นั่ง ยังคงสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสัดส่วนยอดขายรถยนต์ในกลุ่มรถยนต์ไฮบริด (HEV) ที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรุ่น Yaris Cross ที่ยังคงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้านับตั้งแต่เปิดตัว

โดยยอดขายรถยนต์รวมของโตโยต้าในปี 2567 ซึ่งอยู่ที่ 220,356 คัน ลดลง 17.1% มีส่วนแบ่งการตลาด 38.5% ประกอบด้วยยอดขายจากรถยนต์นั่ง 66,912 คัน ลดลง 32.6% มีส่วนแบ่ง 29.9% และรถเพื่อการพาณิชย์ 153,444 คัน ลดลง 7.9% มีส่วนแบ่ง 44.0% สำหรับรถกระบะ 1 ตัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ มียอดขายอยู่ที่ 91,001 คัน ลดลง 29.3% มี
ส่วนแบ่ง 45.5%

ในส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2568 คาดว่าจะยังคงอยู่ในสภาวะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด โดยมีแรงหนุนด้านอุปสงค์จากกิจกรรมในภาคธุรกิจและการลงทุนที่จะกระเตื้องขึ้น ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตดีขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความต้องการรถยนต์ให้สูงขึ้น นโยบายของภาครัฐที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายให้เร่งตัวขึ้น การขยายตัวของการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภายในประเทศและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการผลักดันมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่มีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ตลอดจนกลยุทธการส่งเสริมการขายและสงครามราคาจากผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ต่างๆที่คงจะทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลต่อการส่งออก ตลอดจนสถานการณ์ที่ทางสถาบันการเงินอาจยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เนื่องจากความกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูงและอัตราหนี้เสียที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงต่อไป และทิศทางของนโยบายอัตราดอกเบี้ย ทำให้คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2568 จะอยู่ที่ 600,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

โตโยต้าได้ประมาณการยอดขายรถยนต์รวมทุกประเภทและทุกยี่ห้อในประเทศในปี 2568 อยู่ที่ 600,000 คัน เพิ่มขึ้น 5.0% เมื่อเทียบกับปี 2567 ประกอบด้วยยอดขายจากรถยนต์นั่ง 235,900 คัน เพิ่มขึ้น 5.0% และรถเพื่อการพาณิชย์ 364,100 คัน เพิ่มขึ้น 4.0%

เฉพาะในส่วนของโตโยต้า ตั้งเป้ายอดขายรถยนต์รวมอยู่ที่ 231,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 5% โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 38.5% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 79,300 คัน เพิ่มขึ้น 19% และรถเพื่อการพาณิชย์ 151,700 คัน ลดลง 1.0% สำหรับรถกระบะ 1 ตัน ตั้งเป้าที่ 87,365 คัน ลดลง 4.0%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ