ราคาทองปี 68 อาจทรงตัว หลังทำนิวไฮรอบ  คนไทยยังซื้อทองเบอร์ 1 อาเซียน จับตาทรัมป์ 2.0 -ดอกเบี้ยเฟด

Economics

Global Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ราคาทองปี 68 อาจทรงตัว หลังทำนิวไฮรอบ คนไทยยังซื้อทองเบอร์ 1 อาเซียน จับตาทรัมป์ 2.0 -ดอกเบี้ยเฟด

Date Time: 28 ม.ค. 2568 11:04 น.

Video

จากสุราชุมชน สู่ Soft Power สร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น สร้างรายได้ให้ประเทศ

Summary

  • สภาทองคำโลกเผย แนวโน้มทองคำปี 68 คาดราคาทองจะทรงตัว หลังจากทำสถิติสูงสุดในรอบ 24 ปี ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าตุนทองคำ แต่ไม่พีคเท่าปีก่อน จับตานโยบายทรัมป์ 2.0 และเฟดลดดอกเบี้ย หนุนราคาทองคำระหว่างปี

Latest


สภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) เผยแพร่ผลการวิเคราะห์แนวโน้มของทองคำสำหรับปี 2568 โดยมองว่า อัตราดอกเบี้ย ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนปริมาณความต้องการทองคำในปี 2568

โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวมเป็น 1.00% ภายในสิ้นปี 2568 โดยที่เงินเฟ้อจะชะลอตัวลงแต่ยังคงสูงกว่าระดับเป้าหมาย ด้านธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระดับใกล้เคียงกันเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนของทองคำจะอยู่ในระดับปานกลาง แต่อาจมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามากระตุ้นราคาในช่วงระหว่างปี ทั้งนี้ การกลับมาดำรงตำแหน่งสมัยที่สองของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อาจสร้างแรงกระตุ้นให้กับเศรษฐกิจในประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความวิตกกังวลในระดับหนึ่งให้กับนักลงทุนทั่วโลกเช่นกัน ภายใต้บริบทนี้ การดำเนินการของธนาคารกลางสหรัฐฯ และความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ฯ จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อราคาทองคำ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัจจัยเหล่านี้ไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่กำหนดผลตอบแทนราคาทองคำ โดยสภาทองคำโลกได้ใช้กรอบแนวทางการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมทุกปัจจัยและภาคส่วนที่ผลักดันอุปสงค์และอุปทานของทองคำ จากการวิเคราะห์บนพื้นฐานของ Qaurum SM พบว่า หากเศรษฐกิจโลกเป็นไปตามการคาดการณ์ในปี 2568 ทองคำอาจมีการซื้อขายภายในกรอบที่ใกล้เคียงกับช่วงปลายปีที่ผ่านมา และอาจมีโอกาสปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้ในบางสถานการณ์

สำหรับในปี 2567 ที่ผ่านมา ทองคำมีผลการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยม โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 25.5% แซงหน้าสินทรัพย์หลักทุกประเภท ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตรายปีสูงที่สุดในรอบ 24 ปี เนื่องจากนักลงทุนใช้ทองคำในการป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และความผันผวนของตลาดที่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยตลอดทั้งปีราคาทองคำจากสมาคมตลาดทองคำแห่งลอนดอนที่ทำการซื้อขายช่วงบ่าย (LBMA Gold Price PM) ได้ทำสถิติแตะระดับสูงสุดใหม่ถึง 40 ครั้ง โดยราคาสูงสุดตลอดกาล (All-Time High) ของทองคำครั้งล่าสุดนั้นอยู่ที่ 2,777.80 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา

เซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลก ให้ความเห็นว่า

“การซื้อทองคำของธนาคารกลางและนักลงทุนได้ช่วยชดเชยการชะลอตัวของความต้องการภาคผู้บริโภคได้เป็นอย่างมาก นักลงทุนจากภูมิภาคเอเชียนั้นยังคงมีบทบาทอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนที่ลดลง และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 3 ของปี 2567 ได้กระตุ้นกระแสการลงทุนจากฝั่งตะวันตก อย่างไรก็ตามบทบาทของทองคำในฐานะเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงท่ามกลางความผันผวนของตลาดและความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์นั้นน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยอธิบายถึงผลการประกอบการที่น่าทึ่งนี้”

คนไทยซื้อทองอันดับ 1 ในอาเซียน

สภาทองคำโลกยังได้กล่าวถึงความต้องการทองคำผู้บริโภคของประเทศไทยในปี 2567 ที่มีความแข็งแกร่งและโดดเด่นอย่างน่าสนใจเป็นพิเศษ โดยทองคำเป็นสินทรัพย์ที่คนไทยเลือกและลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศมีความไม่แน่นอน

“เราพบว่านักลงทุนไทยได้มองทองคำเป็นทั้งเครื่องมือรักษามูลค่าของทุนและการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว โดยการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำของประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ แม้ว่าในระดับโลกความต้องการจะลดลง 9% แต่ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำของผู้บริโภคไทยกลับสวนทางและเพิ่มขึ้นถึง 15% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นผู้ซื้อทองคำแท่งและเหรียญทองคำรายใหญ่ที่สุดของกลุ่มประเทศอาเซียนสำหรับไตรมาสดังกล่าวอีกด้วย”

ทรัมป์ 2.0 ปลุกเงินเฟ้อ หนุนราคาทอง

นโยบายการคลังที่เป็นมิตรกับธุรกิจมากขึ้น ผสานกับแนวทาง “America First” ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์นั้น มีแนวโน้มที่จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นในกลุ่มนักลงทุนและผู้บริโภคในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการลงทุนที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น (Risk-On) ในช่วงเดือนแรก ๆ ของปี

อย่างไรก็ตาม คำถามที่สำคัญคือนโยบายเหล่านี้จะนำไปสู่แรงกดดันต่อเงินเฟ้อและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานหรือไม่ นอกจากนี้ความกังวลต่อเรื่องหนี้สาธารณะในยุโรปก็ได้กลับมาสร้างความกดดันอีกครั้ง รวมถึงความไม่มั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ในประเทศเกาหลีใต้และซีเรียเมื่อเดือนธันวาคม 2567 สภาทองคำโลกเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้อาจกระตุ้นให้นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยง เช่น ทองคำ เพื่อเป็นเครื่องมือในการตอบรับกับสภาวะการณ์ดังกล่าว

ธนาคารกลางเดินหน้าตุนทอง

ธนาคารกลางนั้นเป็นผู้ซื้อสุทธิมายาวนานเกือบ 15 ปีติดต่อกัน แม้ว่าความต้องการทองคำจากธนาคารกลางในปี 2025 อาจต่ำกว่าสถิติในปีที่ผ่านมา แต่สภาทองคำโลกมองว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและมีส่วนช่วยสนับสนุนตอบแทนของทองคำได้ในระดับประมาณ 7-10% นอกจากนี้ธนาคารกลางจะยังคงเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่สำคัญต่อทิศทางของทองคำต่อไป

อย่างไรก็ตามการสำรวจและวิเคราะห์ของสภาทองคำโลกได้ชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มปัจจุบันจะยังคงอยู่ในทิศทางเดิม และคาดการณ์ว่าความต้องการทองคำของธนาคารกลางระยะยาวโดยประมาณจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 500 ตัน และจะยังคงส่งผลกระทบสุทธิเชิงบวกต่อผลตอบแทนทองคำ ทั้งนี้สภาทองคำโลกมองว่าความต้องการของธนาคารกลางในปี 2568 อาจสูงกว่าระดับดังกล่าวได้ แต่ในทางกลับกันหากลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์สภาวะนี้อาจเพิ่มแรงกดดันต่อตลาดทองคำได้เช่นกัน

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ