น.ส. มานิช่า โดกรา รองประธานอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน เทเลนอร์เอเชีย เปิดเผยรายงาน ‘Digital Lives Decoded 2024" ของประเทศไทย ฉบับล่าสุดของ เทเลนอร์ เอเชีย (Telenor Asia) จัดทำขึ้นระหว่างเดือนมิ.ย.-ก.ค. 2567 จากการสัมภาษณ์คนไทย 1,002 คน พบคนไทยใช้เวลาออนไลน์วันละ 4 ชั่วโมง 59 นาที มากกว่าค่าเฉลี่ยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ที่ 4 ชั่วโมง 35 นาที โดยคนไทยเจน Z ใช้เวลามากสุดที่ 5 ชั่วโมง 42 นาที ขณะที่คนไทยเจน Baby Boom อายุในช่วง 60 ปีขึ้นไป ก็ยังใช้เวลามากถึงวันละ 3 ชั่วโมง 49 นาที
นอกจากนั้น คนไทยยังเป็นชาติที่นิยมใช้โมบายแบงกิ้งเป็นอันดับต้นๆ แต่คนไทยเกินครึ่งยังกังวลว่าจะถูกหลอกขโมยเงินและขโมยข้อมูลส่วนตัว อย่างไรก็ตามแม้จะกังวล แต่คนไทยกลับเลือกความสะดวกสบาย ยอมจำนนต่อการเสียความเป็นส่วนตัวบางส่วน และมีแนวโน้มที่จะใช้เครื่องมือในการช่วยปกป้องตัวเองน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับคนสิงคโปร์และมาเลเซีย สิ่งเหล่านี้เน้นย้ำถึงความย้อนแย้งของคนไทย เพราะแม้กังวลแต่ก็ไม่พยายามปกป้องตัวเอง
ส่วนเมื่อถามถึงความเห็นเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ผลสำรวจพบว่า คนไทยมีความรู้สึกบวกกับ AI มากกว่าประเทศอื่น โดยผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวไทยเกือบครึ่ง บอกว่าตื่นเต้นกับ AI โดยคนรุ่นเก่า (Gen X และ Baby Boom) ตื่นเต้นกว่าคนเจน Z และ Millennials อย่างไรก็ตาม คนไทยยังใช้ AI ทำงานในอัตราที่น้อยกว่า เมื่อเทียบกับ อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้ AI ในการทำงาน 21% เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ 38% และมาเลเซีย 37% ทั้งนี้ การสำรวจยังทำในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย เมียนมา อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนามด้วย