น.ส.จริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก ได้เปิดเผยภาพรวมตลาดค้าปลีกในกรุงเทพมหานคร ว่า ภาพรวมปี 62 ซบเซา เนื่องจากประเทศไทยเผชิญกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำและกำลังซื้อที่ลดลงจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค.62 ปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 อยู่ที่ระดับ 68.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 68 เดือน นับตั้งแต่ พ.ค.57 โดยหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 60 โดยอยู่ที่ 78.7% ของจีดีพี ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้จ่ายของประชาชน
ทั้งนี้ ช่วงครึ่งหลังของปี 62 รัฐบาลได้ออกมาตรการและโครงการใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ได้แก่ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การลดอัตราดอกเบี้ยและโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ที่รัฐบาลมอบเงินให้ประชาชนใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ และลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่ท่องเที่ยวภายในประเทศ เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ค้าปลีกรายใหญ่ โดยเฉพาะ ห้างสรรพสินค้ามากกว่า เนื่องจากสามารถเข้าถึงได้สะดวกกว่าร้านค้าท้องถิ่นในชนบท
นอกจากนี้ จากการสำรวจพื้นที่ค้าปลีกพบว่า ไตรมาส 3 ปี 62 มีพื้นที่การค้าปลีกในกรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น 7.8 ล้าน ตารางเมตร เพิ่มขึ้น 4.39% จากปีก่อน ขณะที่มองว่าปี 63 จะเริ่มเห็นโคเวิร์กกิ้งสเปซเข้าไปใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในโครงการค้าปลีกย่านใจกลางธุรกิจกรุงเทพฯมากขึ้น ซึ่งคาดหวังว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณลูกค้าเข้ามาใช้บริการในวันธรรมดามากขึ้น และร้านค้าปลีกบางรายยอมลดขนาดร้านค้าแบบสแตนด์อโลนลง เพื่อให้เหมาะกับห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์และซุปเปอร์สโตร์ และไม่เพียงแค่ผู้ค้าปลีกที่มีหน้าร้านเท่านั้น ที่มุ่งสู่การใช้ช่องทางการค้าที่หลากหลาย (omnichannel) ร้านค้าปลีกออนไลน์จำนวนมากก็ได้ขยายไปสู่การมีหน้าร้านในโครงการค้าปลีกเพื่อเป็นโชว์รูมและจุดรับสินค้า รวมทั้งโครงการค้าปลีกยังต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้และสร้างจุดขาย ให้แก่ศูนย์การค้าของตน เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้.