ธปท.ยอมรับต่างชาติเริ่มขายบาทปรับฐานะช่วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา หลังนักวิเคราะห์มองว่าไทยอาจไม่ใช่สวรรค์ของนักลงทุนอีกต่อไป ย้ำค่าเงินบาทแข็งกว่าพื้นฐาน ไปมากทำให้มีโอกาสกลับทิศเป็นอ่อนค่าได้มากขึ้น เตือนผู้นำเข้าป้องกันความเสี่ยง
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้านเสถียรภาพการเงิน กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ไม่ได้สบายใจที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการออกมาตรการต่างๆเพื่อดูแลอย่างใกล้ชิด และในขณะนี้ ธปท.ยังคงดูแลค่าเงินบาทต่อเนื่องใน 3 แนวทาง คือ 1.เพื่อลดการเก็งกำไรระยะสั้น โดยได้ติดตามสอบถามข้อมูลการเข้ามาลงทุนระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่อง ทั้งยอดคงค้างในบัญชีเงินฝากที่เป็นเงินบาทของผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (NRBA) และการให้แสดงตัวตนที่แท้จริงของผู้ลงทุน รวมทั้งเมื่อเห็นเงินที่เข้ามาผิดปกติ ธปท.จะสอบถามไปยังธนาคารพาณิชย์เพื่อให้ชี้แจงข้อมูล และเท่าที่เห็นการลงทุนสุทธิในหุ้นและตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ จนถึงปัจจุบันยังเป็นการเงินไหลออกสุทธิ
2.ธปท.ยังคงเข้าไปแทรกแซงเงินบาทในตลาดเป็นบางช่วงเพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาทที่เร็วเกินไป และ 3.ธปท.ยังคงติดตามผลของการผ่อนคลายการออกไปลงทุนในต่างประเทศ “ช่วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา ธปท.เริ่มเห็นการเปลี่ยนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น และเริ่มมีการวิเคราะห์ของนักลงทุนระดับโลกต่อค่าเงินบาทในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และค่าเงินบาทที่เปลี่ยนไป โดยนักลงทุนต่างชาติ อาจไม่ได้เห็นว่า ค่าเงินบาทเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัย (Safe Haven) ต่อไป และเริ่มมองว่า การแข็งค่าของเงินบาทขณะนี้อยู่ในจุดที่เกินกว่าปัจจัยพื้นฐานไปมาก และสามารถกลับทิศได้ทุกเวลา จากปัจจัยหลายด้าน เช่น การชะลอลงที่ชัดเจนของเศรษฐกิจไทย การลดลงของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และความขึงขังในการออกมาตรการดูแลค่าเงินของ ธปท.ที่พร้อมจะออกมาตรการเพิ่มขึ้นได้
รวมทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยไทยอยู่ในอัตราที่เกือบต่ำสุดในประเทศเกิดใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะทำให้นักวิเคราะห์ฉุกคิดได้ว่า ถึงช่วงที่เงินบาทอาจจะแข็งค่าต่อไปได้ไม่มาก และมีโอกาสกลับทิศไปในทางอ่อนค่าได้มากขึ้น และเริ่มมีคำแนะนำให้
ผู้นำเข้าเริ่มทำประกันความเสี่ยงค่าเงินบาท เพื่อไม่ให้เสียโอกาส หรือขาดทุนหากค่าเงินบาทกลับทิศทางไปในทางอ่อนค่าลง”
รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้เริ่มเห็นค่าเงินบาทนิ่งมากขึ้น และหากดูจากยอดคงค้างของนักลงทุนต่างชาติ จะเห็นนักลงทุนต่างชาติขายเงินบาทออกมาเพื่อปรับฐานะยอดคงค้างเงินบาทมากขึ้น โดยคาดว่าจะเห็นทิศทางนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนักลงทุนเริ่มเชื่อว่าเงินบาทสามารถที่จะเคลื่อนไหวได้ 2 ทาง และมีโอกาสกลับทิศได้ และอาจมีเงินสกุลอื่นที่น่าลงทุนมากกว่า ทั้งนี้ การขายเงินบาทที่เกิดขึ้น
ธปท.ไม่คิดว่าเกิดขึ้นจากฤดูกาลที่นักลงทุนจะลดการลงทุนในช่วงใกล้สิ้นปี เพราะหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าเป็นช่วงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็ง หรือมีการนำเงินออกไปเพื่อปิดบัญชี ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่า แต่ครั้งนี้เกิดขึ้นจากความเชื่อและบรรยากาศการลงทุนของนักลงทุนที่เปลี่ยนไปจริงๆ โดยไม่ได้มองข้างเดียวว่า ค่าเงินบาทจะแข็งค่าไปในทิศทางเดียว
“นอกจากเงินลงทุนต่างชาติที่มีการปรับฐานะในการถือเงินบาทลดลงแล้ว จากมาตรการผ่อนคลายที่ออกไป เราได้เห็นเงินตราต่างประเทศที่เข้ามาจากการขายทองคำลดน้อยลงด้วย หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกับผู้ค้าทองคำรายใหญ่ให้ซื้อขายทองคำเป็นเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน การผ่อนคลายให้ผู้ส่งออกไม่ต้องนำเงินตราต่างประเทศกลับเข้ามา จะช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาทได้อีกทางหนึ่ง” และว่า ธปท.ต้องการให้เอกชนทำสัญญาล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงค่าเงินบาทเพิ่มขึ้น
ขณะที่ ธปท.และธนาคารพาณิชย์ จะรับฟังปัญหาอุปสรรคของภาคเอกชนว่ามีข้อจำกัด-อุปสรรคจากค่าเงินบาทอย่างไร และนำมาหาหนทางในระยะสั้น และยาวเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว.