คำพูด หรือ การกระทำ ที่คิดว่า “แค่ขำๆ” อาจมีใครสักคนที่ “เจ็บ”
ในที่นี้เรากำลังพูดถึง “จักรวาลการบูลลี่” ทั้งจากการบูลลี่ตัวเอง หรือจาก “บุคคล” ที่สองที่สาม ที่ไม่ว่าจะตั้งใจ หรือไม่ก็ตาม ทุกรูปแบบย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจของคนที่โดน และกลายเป็นต้นตอของปัญหาสุขภาพจิต ที่หลายๆ คนเกินจะแบกรับไหว
ข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ระบุว่า สถานการณ์สุขภาพจิตของเยาวชนไทย ในช่วงปี 2563-2567 มีความเครียดสูงถึง 24.83% มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 29.51% และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงถึง 20.35% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าวัยอื่นๆ เพราะเพียงแค่การกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนของประเทศไทย ก็สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกเลยทีเดียว ส่วนสาเหตุหลักๆ ก็มักเกิดจากความเครียด ความเหนื่อยล้า ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ และยังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จึงถือได้ว่าการ “บูลลี่” เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ยังคงฝังรากลึกในสังคม ที่ไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศไทย แต่ยังรวมไปถึงทั่วโลก โดยที่ผ่านมาทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งสถานศึกษา ก็ได้มีการออกมารณรงค์ “หยุด Bully” ไม่ต้องมีผู้ล่า ไม่ต้องมีเหยื่อ แค่อยู่ร่วมกันในสังคมที่ทุกชนชั้นเท่าเทียมกัน
ทั้งผ่านสื่อโฆษณา ภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งซีรีส์ อย่างเช่น “Pyramid Game” ซีรีส์เกาหลีสุดฮอต ของนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ที่ใน 1 เดือนจะต้องมีการโหวตแบ่งชนชั้น ผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อจัดอันดับตั้งแต่ A ถึง F ใครป๊อปก็เป็นราชา ใครที่โดนหมายหัวขึ้นมาก็ได้เกรด F และกลายเป็น “ของเล่น” ที่ต้องหาวิธีเอาตัวรอด
สะท้อนให้เห็นว่า “Pyramid Game” ไม่ได้แค่สื่อที่ผลิตออกมาเพื่อสนองต่อความบันเทิงเพียงเท่านั้น แต่ยังตีแผ่ปัญหาการบูลลี่ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน สังคม รวมไปถึงครอบครัว จนนำมาสู่ความบิดเบี้ยวที่ยากเกินจะเยียวยา
แต่ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะแม้ว่าซีรีส์จบ แต่ “การบูลลี่” ยังไม่จบ ดังนั้น Viu จึงมีแนวคิดโปรโมตซีรีส์ที่มาพร้อมกับการ “หยุดบูลลี่” ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมไปพร้อมๆ กัน ผ่านการหยิบกิมมิกจาก Pyramid Game ที่จะต้องมีการโหลดแอปฯ เพื่อโหวต
มาสร้างเป็น "Pinramid" (พินระมิด) เปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไปในประเทศไทย ตั้งแต่ วันนี้ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 หากผู้เข้าร่วมทำการตอบแบบสำรวจเกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง (bullying) บน Pinramid จนแล้วเสร็จ ผู้เข้าร่วมจะได้รับรหัส Viu Premium ฟรี 7 วัน (มูลค่า 49 บาท) และจากนั้นผลการสำรวจจะถูกเปิดเผยบน Pinramid
สรุปง่ายๆ การทำงานของ Pinramid ก็คือ จะมีแผนที่ให้เราเข้าไปเลือกปักหมุดว่าอยู่ในสถานที่ใดที่เคยถูกบูลลี่ จากนั้นก็สามารถเลือกได้ว่า เราถูกบูลลี่ในแง่มุมใด เช่น ถูกบูลลี่ทางร่างกายแบบพโยจีแอ, ถูกบูลลี่ทางคำพูดแบบแบคฮาริน, ถูกบูลลี่ทางสังคมแบบมยองจาอึน และสุดท้ายคือ ถูกบูลลี่ทางไซเบอร์แบบซองซูจี
และเมื่อปักหมุดพร้อมกับแชร์เรื่องราวแล้ว แอปฯ ก็จะมีการเก็บสถิติว่าสถานที่ใดมีการบูลลี่เกิดขึ้นมากที่สุด และหากคนที่เข้ามาแชร์เรื่องราวต้องการความช่วยเหลือก็สามารถกดสายด่วนผ่านแอปฯ ต่อสายตรงถึงกรมกิจการเด็กและเยาวชนได้เลย ซึ่งล่าสุดพบว่า การบูลลี่ทางคำพูด (Verbal Bullying) สูงถึง 50.9% และส่วนใหญ่จะอยู่ที่พื้นที่ “สยาม”
จึงกล่าวได้ว่าแคมเปญที่ Viu สร้างสรรค์ออกมาในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการหยิบยกนำเอาประเด็นสังคมมาเป็น “กลยุทธ์ทางการตลาด” มาเป็น “ตัวชูโรง” ในการโปรโมตซีรีส์ชั้นดีแล้วนั้น ยังสามารถสร้าง “การเคลื่อนไหวทางสังคม” ที่ไม่ใช่แค่นามธรรมอีกต่อไป แต่เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้จริง และยังเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมให้กับคนในสังคม ที่จะกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ผ่านการแจ้งพิกัด ปักหมุด “จุด” เพื่อหยุด “บูลลี่” ที่ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อ “สังคมได้ แบรนด์ก็ได้ด้วย”
จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “แม้รากการบูลลี่” จะหยั่งลึกแค่ไหน? แต่ถ้าพายุหลายลูกรวมตัวกัน “รากนั้น” ก็ไม่ยากที่จะถูกถอน เช่นเดียวกันกับบูลลี่ ถ้าทุกคนร่วมแรงร่วมใจ “สังคม” เราก็เปลี่ยนได้เช่นเดียวกัน
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney