เป็นที่ทราบกันดีว่า “ประเทศไทย” ถือเป็นโลเคชันชั้นดี ที่ต่างชาติใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์โทรทัศน์ โฆษณา หรือแม้กระทั่งซีรีส์
แต่รู้หรือไม่ว่า? แค่ปี 2567 ปีเดียว มีกองถ่ายเข้ามาใช้โลเคชันในประเทศไทยแล้วถึง 214 เรื่อง (ข้อมูลเดือน ม.ค.-พ.ค. 2567) สร้างรายได้ให้ไทยไปแล้วกว่า 3,431 ล้านบาท ส่วนเหตุผลหลักๆ ที่ไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางของกองถ่ายจากต่างประเทศนั้นเห็นจะเป็น ภูมิประเทศที่มีมิติความแตกต่างทางด้านภูมิศาสตร์ มีธรรมชาติที่สวยงาม ทั้งภูเขา ทะเล แหล่งน้ำ รวมทั้งศิลปวัฒนธรรม สถานที่ทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น วัดโบราณ หรือแม้กระทั่งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะท้อน Localize ได้เป็นอย่างดี และยังมีทีมงานคุณภาพ
รวมทั้งรัฐบาลไทยยังได้ให้การส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ ทั้งการสนับสนุนเป็นสิทธิประโยชน์ในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) ตามมติ ครม. (7 ก.พ. 2566) 20-30% เป็นระยะเวลา 2 ปี จากเดิม 15-20% สิทธิประโยชน์หลักอยู่ที่ 20% เมื่อมีการลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ส่วนสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมรวมแล้วไม่เกิน 10%
รวมทั้งยังได้มีการเพิ่มเพดานการคืนเงินจากเดิม 75 ล้านบาทต่อเรื่อง เป็น 150 ล้านบาทต่อเรื่อง ซึ่งทำให้เพดานเงินลงทุนสร้างภาพยนตร์ต่อเรื่องสูงขึ้นตามไปด้วย
แล้วหนังต่างประเทศ 1 เรื่อง กระจายรายได้ไปที่ไหนบ้างในประเทศไทย? จากรายงานของ กองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย 1 เรื่อง สามารถกระจายรายได้ไปสู่ภาคธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งภาครัฐสามารถเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆ จากกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนถ่ายทำในประเทศไทย โดยมีสัดส่วนการกระจายรายได้ ดังนี้
ประสบการณ์และความทุ่มเทในการทำงานร่วมกับกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศของทีมงานชาวไทยได้รับคำชื่นชมจากคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นความเป็นมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะทีมงานฝ่ายศิลป์ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงาน และเนรมิตฉากถ่ายทำต่างๆ ได้ตามความต้องการของผู้ผลิตภาพยนตร์
ซึ่งในภาพยนตร์แต่ละเรื่องมีสัดส่วนการจ้างงานทีมงานชาวไทยในหลากหลายตำแหน่ง อาทิ ผู้กำกับ ผู้ช่วยผู้กำกับ ฝ่ายศิลป์ ฝ่ายจัดหาสถานที่ถ่ายทำ ฝ่ายตัดต่อ แผนกช่างไฟ ช่างกล้อง แผนกเสื้อผ้าช่างทำผม ช่างแต่งหน้า ฝ่ายจัดหานักแสดง นักแสดงสมทบ และผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย เป็นต้น
ประเทศไทยมีบริษัทผู้ให้บริการเช่าอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานและทันสมัย สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายทำภาพยนตร์ที่มีคุณภาพสูง ไฟประกอบฉาก รางสไลด์ รางดอลลี่ หรืออากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เป็นต้น
เป็นภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยเฉพาะค่าที่พักของคณะถ่ายทำต่างประเทศทั้งในระดับ Luxury ที่พร้อมรองรับนักแสดง ผู้กำกับที่มีชื่อเสียงระดับโลก หรือที่พักในชุมชนที่เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ในส่วนค่าอาหารได้กระจายไปสู่ร้านอาหารท้องถิ่น หรือภัตตาคารหรู ทำให้เกิดธุรกิจจัดทำอาหารสำหรับกองถ่าย สำหรับค่าพาหนะเดินทาง ทั้งในส่วนของสายการบินที่เป็นนิติบุคคลไทย รถไฟ รถตู้ หรือยานพาหนะในท้องถิ่น ล้วนได้รับประโยชน์จากการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยทั้งสิ้น
ในช่วงระหว่างปี 2563-2565 ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด อุตสาหกรรมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ได้รับการผ่อนปรนให้มีการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยของชาวต่างชาติ แต่จำเป็นต้องการมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดในกองถ่ายทำ ทำให้คณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายทั้งในการตรวจหาและคัดกรองเชื้อโรค และค่าใช้จ่ายการกักตัวของคณะถ่ายทำต่างประเทศ เป็นต้น
ทั้งการเช่าสตูดิโอโรงถ่ายทำ พื้นที่ของเอกชน การถ่ายทำในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ พื้นที่สาธารณะต่างๆ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงสถานที่ถ่ายทำ ให้มีความพร้อมและสามารถรองรับคณะถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ
ทั้งนี้ ในแต่ละค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยยังมีการจัดเก็บภาษีที่ภาครัฐได้รับโดยตรง (ประมาณ 536 ล้านบาท) โดยเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ยังไม่ได้รวมภาษีภาษีบุคคลธรรมดา และภาษีอื่นๆ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกรมสรรพากรกำหนดอีกด้วย
และจากข้อมูลยังพบว่า สถิติการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย เดือน พ.ค.2567 มีจำนวน 43 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 2 เรื่อง ส่วนงบประมาณการลงทุนอยู่ที่ 301.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 4 ล้านบาท
โดยเป็นกลุ่มโฆษณามากที่สุด รองลงมาคือ สารคดี รายการท่องเที่ยว มิวสิกวิดีโอ ภาพยนตร์ และเรียลลิตี้ ตามลำดับ ส่วนประเทศที่เข้ามาใช้โลเคชันมากสุดคือ ฝรั่งเศส ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ ขณะที่ 5 อันดับจังหวัดสุดฮอต ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี
สะท้อนให้เห็นว่า “ธุรกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ” ในประเทศไทยยังคงเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับ “ไทย” ไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคธุรกิจต่างๆ รวมทั้งมีการกระจายสู่ท้องถิ่นจนเกิดการจ้างงาน และยังเป็นการเผยแพร่ “โลเคชันประเทศไทย” ไปสู่สายตาชาวโลกอีกด้วย และอีกจุดหนึ่งที่สำคัญคือ “องค์ความรู้” ที่มาจากรอบทิศยังถ่ายทอดมาสู่ประเทศไทยด้วยเช่นกัน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ไทย” ก็มีดีไม่แพ้ชาติใดในโลกเช่นกัน.
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney