จากเด็กชอบคอมพิวเตอร์สู่ "iHAVECPU" จากทุน 4 หมื่นสู่ยอดขาย 1,800 ล้านบาท

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จากเด็กชอบคอมพิวเตอร์สู่ "iHAVECPU" จากทุน 4 หมื่นสู่ยอดขาย 1,800 ล้านบาท

Date Time: 23 พ.ย. 2567 04:40 น.

Summary

  • จาก 2 มือและความมีวินัยบวกความขยันของ “พีรดนย์ เหมยากร” ลูกชายเจ้าของโรงสีไพบูลย์ศิริที่นครนายก ที่ชอบคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็ก และสนุกกับการรื้อแคะแกะเครื่องคอมฯ สู่การเป็นเจ้าของ iHAVECPU ร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ครบวงจร ที่ฮอตฮิตในโลกโซเชียล

Latest

เปิดอินไซต์ คนไทย #ติดแกลม เมื่อคนต่างเจน มองคำว่า "หรูหรา" ไม่เหมือนกัน ?

จาก 2 มือและความมีวินัยบวกความขยันของ “พีรดนย์ เหมยากร” ลูกชายเจ้าของโรงสีไพบูลย์ศิริที่นครนายก ที่ชอบคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็ก และสนุกกับการรื้อแคะแกะเครื่องคอมฯ สู่การเป็นเจ้าของ iHAVECPU ร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ครบวงจร ที่ฮอตฮิตในโลกโซเชียล มียอดติดตามในแต่ละช่องทางเป็นจำนวนหลักล้าน!!สิ้นปี 66 มียอดขาย 1,300 ล้านบาท ล่าสุดยังไม่จบปี 67 ดี iHAVECPU ทำยอดขายไปแล้ว 1,600 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายจบปีนี้ที่ 1,800 ล้านบาท ด้วยเงินทุนตั้งต้นก้อนแรกที่ขอยืมแม่เพียง 40,000 บาท!!

“คุณเปา พีรดนย์ เหมยากร” หรือพี่เปาของเหล่าน้องๆเอฟซี เล่าว่า ธุรกิจของเขาเริ่มจากห้องซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าไอทีมือ 2 ในเว็บบอร์ด Over clock zone ชุมชนของกลุ่มคนรักคอมพิวเตอร์ ที่เขาไปโพสต์ขาย CPU เครื่องเก่าของตัวเอง ตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งสมัยนั้นช่วงปี 56 คนนิยมซื้อคอมพิวเตอร์มือ 2 มาประกอบเอง เพราะเครื่องใหม่ยังราคาสูง

จนเกิดความคิดหารายได้พิเศษ โดยเข้าไปซื้อๆขายๆจับเสือมือเปล่าอยู่ในห้องนี้ จนถึงขั้นไปหาซื้อของมือ 2 จากเว็บ E-BAY อีเบย์ เพื่อนำมาขายหลังพบว่า CPU ที่ขายในไทยทั้งมือ 1 และมือ 2 มีราคาสูงกว่าที่ขายใน E-BAY มาก เมื่อหักค่าขนส่งข้ามน้ำข้ามทะเลมาแล้ว เขายังมีกำไรส่วนต่างได้เครื่องละ 600-700 ถึงหลักพันบาท ขณะที่มีสินค้าให้เลือกเยอะกว่า ทั้งยี่ห้อและ Spec ที่สูงกว่า ทำให้ขายดียิ่งขึ้น

“คุณเปา” เล่าต่อว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้ธุรกิจขยายตัวขึ้น จากตอนแรกที่ซื้อจาก E–BAY และให้ผู้ขายส่งตรงมาให้ที่เมืองไทยเลย เขาได้เจอคนไทยที่ทำชิปปิ้งอยู่ในแคลิฟอร์เนีย รับรวบรวมสินค้าที่เขาสั่งจาก E–BAY และส่งลงเรือมาที่ไทยทีเดียว ทำให้ต้นทุนค่าส่งสินค้ามาไทยลดลงมาก นอกจากเขาจะมี CPU ที่หลากหลายยี่ห้อและสเปกมาขายมากขึ้นแล้ว ยังได้ส่วนต่างกำไรที่มากขึ้น

ตอนนั้นช่องทางการขาย CPU ของเขานอกจากใน Over clock zone เป็นหลักแล้ว เขาเริ่มโพสต์ขายในห้องซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าไอที ในเว็บที่เป็นการรวมตัวของคนรักคอมพิวเตอร์ในจังหวัดต่างๆ เช่น เว็บขอนแก่น ลิงก์, เชียงใหม่ 108, เชียงรายโฟกัส เป็นต้น

แต่จุดเปลี่ยนใหญ่ที่ทำให้ iHAVECPU โตก้าวกระโดด คือการมาของ FACEBOOK ในปี 58 ที่การเปิดเพจขายสินค้าใน FACEBOOK ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ทำให้ตลาดใหญ่ขึ้น และ FACEBOOK เข้ามากินตลาดในเว็บบอร์ดมากขึ้น แม้การซื้อขายสินค้าออนไลน์ในยุคนั้น ยังมีอุปสรรคเรื่องความน่าเชื่อถือที่คนยังกลัวๆกล้าๆกับการซื้อออนไลน์ ดังนั้น สิ่งที่เขาเน้นคือการสร้างความน่าเชื่อถือโดยตอบลูกค้าที่อินบ็อกหรือถามเข้ามาอย่างรวดเร็ว และมีบริการหลังการขายที่ดี เพื่อซื้อใจลูกค้า

และเมื่อตลาดซื้อขายออนไลน์ในไทยเริ่มได้การยอมรับและได้รับความนิยมมากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จนนำมาสู่การ Live สดขายสินค้า “คุณเปา” จึงต้องกระโจนเข้าสู่สังเวียนนี้ “จริงๆผมเป็นคนที่ไม่ค่อยมั่นใจแต่คิดว่าต้องทำ และต้องทำด้วยตัวเองในฐานะที่เราเป็นเจ้าของ ตอนแรกที่ออกมาไลฟ์ ก็ทำได้ไม่ดี แต่ก็ได้พยายามพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ” “จุดเด่นหรือจุดขายที่ทำให้คนเข้ามาตามดูจำนวนมาก เพราะเราเป็นรายแรกและรายเดียวในไทยสมัยนั้น ที่ไลฟ์สดขายคอมพิวเตอร์ โดย test spec คอมพิวเตอร์โชว์ให้ลูกค้าดูว่าเครื่องนี้ spec แบบนี้เล่นอะไรได้บ้าง มีศักยภาพแค่ไหน ถือเป็น “ความต่าง” ที่คนอื่นไม่ได้ทำแม้กระทั่งร้านค้าใหญ่เจ้าตลาด”

“คุณเปา” ยังบอกว่า “ผมจะมีวินัย โดยขยันไลฟ์ให้บ่อยและถี่ถึงวันละ 3-4 รอบ ผมเริ่มไลฟ์สดครั้งแรกปี 58 และปี 66 ที่ผ่านมาผมไลฟ์ไปถึง 972 ครั้ง การที่ผมซึ่งเป็นเจ้าของมาเป็นผู้นำไลฟ์ เป็น “อินฟลูเอนเซอร์” ด้วยตัวเอง ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญ และให้คำแนะนำกับคนดู การที่ผมลงไปเล่นเอง ถือเป็นกลยุทธ์การใช้ “ซีอีโอ แบรนด์ดิ้ง” ที่สร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าเราเป็น “ของจริง” สามารถซื้อใจลูกค้าได้ และการไลฟ์สดทุกครั้ง ผมจะให้ข้อมูลความรู้ พูดคุยกับคนดูหรือลูกค้าอย่างเป็นกันเอง ทำให้สนุกสนาน จะไม่พูดเรื่องคอมพิวเตอร์ให้เป็นเรื่องซีเรียส”

ปัจจุบัน iHAVECPU ไม่ได้ขายแค่ CPU เราขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ครบวงจร แต่ CPU ยังเป็นสินค้าหลัก โดยเป็นตัวแทนขาย CPU แทบทุกแบรนด์ในตลาด มีดีลเลอร์ตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ใหญ่ๆเข้ามาเสนอสินค้าให้เรานำไปขาย ตลาดตอนนี้มีแต่ของใหม่แล้ว

นอกจากช่องทางการขายทางออนไลน์แล้ว ยังเปิดสาขาทั่วประเทศ 13 สาขา และตั้งเป้าเปิดเพิ่มเป็น 40-50 สาขา มองว่าการซื้อคอมพิวเตอร์ไม่เหมือนสินค้าอื่น คนซื้ออยากสัมผัสลูบคลำ อยากทดสอบและอยากมารับกลับบ้านด้วยตัวเอง การมีสาขาถือเป็นบริการและสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า ว่าเรามีตัวตนจริง ปัจจุบันลูกค้าอาจสั่งซื้อสินค้าบอก spec ทางออนไลน์และมารับสินค้าด้วยตัวเอง ทำให้ยอดขายผ่านสาขา 70% ออนไลน์ 30%

“ผมเปิดบริษัทเมื่อ ปี 63 ตลอดการอยู่ในธุรกิจนี้ งานหลักจริงๆของผมคือช่วยธุรกิจโรงสีข้าวของครอบครัว ตอนที่ยังไม่ตั้งบริษัท ผมถือว่า iHAVECPU คือการหารายได้เสริม แต่เมื่อกิจการเติบโตขึ้น จนต้องตั้งบริษัทมารองรับ ผมถึงลาออกจากการช่วยงานที่บ้าน เพื่อมาลุยธุรกิจตัวเองเต็มตัว ปี 64 หลังตั้งบริษัท iHAVECPU มีรายได้ 400 ล้านบาท เพิ่มเป็น 800 ล้านในปี 65 และ 1,300 ล้านในปี 66 ทุกวันนี้ครอบครัวไม่ได้ทำโรงสีแล้ว โรงสีและโกดังเก็บข้าว กลายมาเป็นคลังและศูนย์กระจายสินค้าของ iHAVECPU หมดแล้ว”

“Business on my way ของผม คือความตั้งใจ ขยัน และมีวินัย ที่สำคัญต้องมีความหวังและความฝันที่ทำให้สำเร็จ เราถือเป็นรายเล็กที่เข้ามาใหม่ในตลาด เริ่มจากออนไลน์ ขณะที่มีเจ้าตลาดรายใหญ่ มีสาขาเป็น 100 เรามาทีหลังเขามาก เรียกว่าเราแพ้เขาตั้งแต่เกิด ทำให้เราต้องขยันกว่าเขา และทำในสิ่งที่แตกต่างที่เขาไม่มีหรือทำไม่ได้ จึงทำให้ iHAVECPU มาถึงวันนี้ได้.

เลดี้แจน

คลิกอ่านคอลัมน์ “Business on my way” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ