ทำไม “ธุรกิจครอบครัว” ในไทย ส่งต่อทายาทรุ่น 3 เหลือรอดเพียง 12%

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ทำไม “ธุรกิจครอบครัว” ในไทย ส่งต่อทายาทรุ่น 3 เหลือรอดเพียง 12%

Date Time: 19 เม.ย. 2567 13:17 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • ความต่างของ “เจเนอเรชัน” ต้นตอสำคัญที่ส่งต่อธุรกิจครอบครัวไปถึงรุ่นที่ 3 รุ่นที่ 4 เพียง 12% และ 3% ตามลำดับเท่านั้น แม้ในไทยจะมีธุรกิจครอบครัวสูงถึง 80% ก็ตาม ดังนั้นหากอยากจะสำเร็จต้องเร่งสร้างธรรมนูญครอบครัว วางกลยุทธ์ธุรกิจแบบยืดหยุ่น เตรียมพร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ผู้สืบทอดกิจการ

หากพูดถึงโจทย์ท้าทายของธุรกิจครอบครัวทั่วโลก คงหนีไม่พ้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ “ทายาทรุ่นที่ 3 และ 4” นั่นก็เพราะกว่า 80% ของธุรกิจในประเทศไทยคือ ธุรกิจครอบครัว สะท้อนให้เห็นว่า การสืบทอด “ธุรกิจกองกลาง” หรือ ธุรกิจกงสี จากรุ่นสู่รุ่นล้วนมีอยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน จึงถือเป็นหน่วยก้านสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของ “เศรษฐกิจไทย”

ซึ่งจากข้อมูลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ประเทศไทยมีธุรกิจครอบครัวที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 1,526 บริษัท หรือคิดเป็น 77.58% ของบริษัททั้งหมด 

แต่กลับมีเพียง 30% ของธุรกิจครอบครัวเท่านั้นที่สามารถดำเนินธุรกิจให้อยู่รอด และส่งผ่านไปสู่รุ่นที่ 2 ได้สำเร็จ และเพียง 12% สามารถส่งผ่านไปสู่รุ่นที่ 3 และมีเพียง 3% เท่านั้นที่รอดไปสู่รุ่นที่ 4 ตามลำดับได้ จึงนับเป็นความท้าทายของทายาทธุรกิจในการพาธุรกิจของตระกูลให้สืบทอดต่อไปได้

โดยพบว่าปัญหาหลักๆ ส่วนใหญ่มักจะมาจาก “ความต่างของเจเนอเรชัน” หรือ ช่องว่างของวัย ปมหนึ่งที่หลายๆ ครอบครัวต้องพบเจอ โดยเฉพาะผู้บริหาร 3 รุ่น 3 ช่วงวัย มักจะมีช่องว่างที่ข้ามได้ยาก บวกกับปัจจัยเรื่องของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของบุคคลในยุคหรือช่วงเวลานั้นๆ หรือการยึดติดกับวัฒนธรรมเดิมของคนรุ่นเก่าที่นำไปสู่การปรับตัวที่ช้าเกินไป

ทำให้ทายาทผู้นำรุ่นใหม่ของไทยส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาในการเปลี่ยนถ่ายธุรกิจเช่นนี้ ทำให้เกิดความเห็นต่างกับผู้นำรุ่นพ่อ-แม่ ดังนั้นแนวโน้มส่วนใหญ่กลายเป็นว่า เลือกที่จะผันตัวไปเป็นผู้ประกอบการธุรกิจของตนเองมากขึ้น 

หรือแม้กระทั่ง กระจายธุรกิจจนสูญเสียการบริหาร ซึ่งสำหรับธุรกิจครอบครัว เพราะการล้มเหลวไม่ได้หมายถึงธุรกิจต้องปิดตัวลงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสูญเสียอำนาจการบริหารธุรกิจไปให้กับคนนอกตระกูล ดังนั้นต้องสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโต และอำนาจการบริหาร เพื่อให้ธุรกิจยังเป็นของครอบครัวต่อไป 

ต่อมาคือ การวางทายาทในการสืบทอดธุรกิจที่ไม่ชัดเจน หรือความคิดเห็นไม่ตรงกัน ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งภายในครอบครัว และไม่ลงรอยกันในที่สุด 

ดังนั้นการสืบทอดธุรกิจจึงต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ และการสื่อสารในครอบครัวที่ดี “เข้าใจความแตกต่าง” ของคนแต่ละช่วงวัย และสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวมีอายุยืนยาว มีองค์ประกอบสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ธรรมนูญครอบครัวตัวช่วยลดความขัดแย้ง, มีการวางกลยุทธ์ธุรกิจแบบยืดหยุ่น วางแผนในธุรกิจระยะยาวรองรับความเสี่ยงที่จะกระทบต่อธุรกิจ, วางโครงสร้างความเป็นเจ้าของธุรกิจให้ชัดเจน หรือแม้กระทั่งวางแผนการเปลี่ยนผ่านสืบทอดกิจการ และการบริหารที่ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมส่งต่อไปยังเจเนเรชันถัดไป 

เพราะธุรกิจครอบครัวถือเป็นนักรบทางเศรษฐกิจที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย โดยสามารถสร้างรายได้ประมาณ 60-70% ของ GDP ทว่าส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาในการสืบทอดธุรกิจ จนมีคำกล่าวว่า ธุรกิจครอบครัวมักจะส่งต่อกันได้ไม่ถึงรุ่นที่ 3 เนื่องจากศาสตร์การบริหารธุรกิจครอบครัวเป็นศาสตร์เฉพาะด้านที่มีการบ่มเพาะ ถ่ายทอดกันในวงจำกัด. 

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing 


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ