ค้าปลีกเดินหน้าสวนกระแสเศรษฐกิจ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ค้าปลีกเดินหน้าสวนกระแสเศรษฐกิจ

Date Time: 2 มี.ค. 2567 05:18 น.

Summary

  • ปัญหากำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา แม้จะเป็นช่วงเวลาไฮซีซัน เข้าสู่เทศกาลขายสินค้ากัน แต่กลับไม่เป็นดังที่คาดกัน อยู่ๆกำลังซื้อเกิดปัญหาชะงักงันขึ้นมาจากหลายปัจจัย

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

ปัญหากำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา แม้จะเป็นช่วงเวลาไฮซีซัน เข้าสู่เทศกาลขายสินค้ากัน แต่กลับไม่เป็นดังที่คาดกัน อยู่ๆกำลังซื้อเกิดปัญหาชะงักงันขึ้นมาจากหลายปัจจัย

ปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น เงินในกระเป๋าผู้บริโภคน้อยลง มีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ท่ามกลางบรรดาเจ้าของแบรนด์ ผู้ประกอบการต่างๆจะเร่งเดินหน้าโปรโมตตลาดอย่างหนักแต่ก็ยังไม่คึกคักเท่าที่ควร

แม้เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ได้สร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคขึ้นมาระดับหนึ่ง และเฝ้ารอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการดิจิทัล วอลเล็ตและอีกหลายๆโครงการท่ีกำลังจะตามมา โดยเฉพาะงบประมาณปี 67 ที่ถูกเร่งให้ออกมาก่อนสงกรานต์ เพิ่งเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้น หลายๆบริษัทกลับมีผลประกอบการดี หากจะมองผลประกอบการบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่รายงานผลการดำเนินการในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา อย่างบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ระบุในรายงานผลการดำเนินการไตรมาส 4 ที่ผ่านมาสามารถทำได้ดีกว่าตลาดรวม และดีกว่าไตรมาสที่ 3 มียอดขายรวม 240,553 ล้านบาท มีกำไรสุทธิถึง 5,500 ล้านบาท ขยายสาขาใหม่ 154 สาขา เมื่อเทียบไตรมาสที่ 3 ก่อนหน้าที่มียอดขาย 5 ล้านบาท กำไร 4,424 ล้านบาท

ภาพรวมร้านเซเว่น อีเลฟเว่น มียอดขายเฉลี่ยเติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา 5.5% ยอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวันที่ 80,837 บาท ยอดซื้อต่อบิลประมาณ 83 บาท ลูกค้าเข้าร้านเฉลี่ยวันละ 965 คน

ทางซีพีออลล์ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมายังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนด้วยเช่นกัน จากสถานการณ์ดังกล่าวธุรกิจร้านสะดวกซื้อได้ปรับแผนกลยุทธ์เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยคำนึงถึงการรักษาฐานลูกค้าเดิม และขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ๆ

รายได้ในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา ซีพีออลล์ มีรายได้รวม 921,187 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 8% กำไรขั้นต้น 196,271 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.3% โดยรายได้จากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 399,558 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 44,585 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.6% กำไรขั้นต้นถึง 112,792 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15,634 ล้านบาท หรือเติบโต 16.1% โดยกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มทำรายได้เป็นสัดส่วนสูงถึง 75.2%

ณ สิ้นปี ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นมีจำนวน 14,545 สาขา ขยายสาขาใหม่ 707 สาขา ส่วนในปีนี้ตั้งเป้าขยายสาขาใหม่อีก 700 สาขา จะใช้เงินลงทุน 12,000-13,000 ล้านบาท ซึ่งการขยายสาขาใหม่จะมีหลักในการสร้างการเติบโตทางด้านยอดขาย

หันมามาดูทางด้านบริษัทเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (ซีอาร์ซี) มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจของไทยเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน การฟื้นตัวในรูปแบบ K-Shaped แบบไม่สมดุล มีทั้งกลุ่มที่ฟื้นตัวได้ดีและกลุ่มที่ยังไม่ฟื้น ซึ่ง “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ก่อนหน้านี้ได้แสดงวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ของซีอาร์ซีจะเน้นไปยังธุรกิจที่อัตราเติบโตสูง ธุรกิจสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในทุกสถานการณ์ท่ามกลางความกดดันทางเศรษฐกิจปัญหาหนี้ครัวเรือน ค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รวมไปถึงปัญหาการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก

แต่สิ่งท่ีเป็นปัจจัยการฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมา มาจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก นักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มเป็น 28 ล้านคน จาก 11 ล้านคนในปีก่อนหน้า แม้จะมีจำนวนน้อยกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน แต่มาตรการรัฐกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องได้เห็นผลมาจนถึงปีนี้

สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 4 ของซีอาร์ซีที่แจ้งไว้กับตลาดหลักทรัพย์มีรายได้รวม 65,905 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียง 1.2% มีกำไรสุทธิ 3,266 ล้านบาท ลดลง 4.4% รายได้เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงสาขาเดิม ขยายสาขาใหม่ เพิ่มธุรกิจใหม่คือธุรกิจ “โก โฮลเซลล์” แต่ค่าใช้จ่ายและต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ผลประกอบการในรอบปี 2566 มีรายได้รวม 248,688 ล้านบาท เติบโต 5% EBITDA 32,436 ล้านบาท เติบโต 8% กำไรสุทธิ 8,016 ล้านบาท เติบโต 15% สร้างนิวไฮ สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเซ็นทรัล รีเทล ที่มีอีโคซิสเต็มที่ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วในทุกสถานการณ์ แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ

ขณะทิศทางเศรษฐกิจในปีนี้ยังคงมีความไม่แน่นอน จะต้องติดตามปัจจัยสำคัญอย่างใกล้ชิด ทั้งปัจจัยภายใน ภายนอก รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่คาดว่าจะเริ่มเห็นกันในเร็วๆนี้ น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา.

วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ