ในช่วงที่ผ่านมาแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์เองได้ปรับทิศทางการลงทุนออกไปในธุรกิจโรงแรมและค้าปลีก ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มโรงแรมแกรนด์เซ็นเตอร์พ้อยต์ ล่าสุดได้เปิดโรงแรมแกรนด์เซ็นเตอร์พ้อยต์ สุริวงศ์ มูลค่าการลงทุนกว่า 2,300 ล้านบาท ส่วนธุรกิจค้าปลีก ได้แก่ ศูนย์การค้าเทอร์มินัล 21, ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ และเดอะพรอมานาดม, โฮมโปร รวมถึงบริษัทควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปดัคส์ จำกัด ผู้ผลิตคอนกรีตมวลเบา และธุรกิจทางการเงิน โดยมีธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทย่อยในเครือ
การขยายการลงทุนออกไปเพื่อสร้างรายได้ครอบคลุมหลายๆด้านและยังเพิ่มความแข็งแกร่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ในช่วงการแพร่ระบาดโควิดที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ตกต่ำ ขณะเดียวกันยังต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันในธุรกิจที่คู่แข่งงัดกลยุทธ์ทางการตลาดและนวัตกรรมออกมา
การแถลงข่าวเป้าหมายของการดำเนินการในปี 2567 นำโดย นายนพร สุนทรจิตต์เจริญ ประธานคณะกรรมการบริการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยข้อมูลตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2566 ที่ผ่านมาที่จัดทำโดยบริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) ระบุว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค.2566 ที่ผ่านมาจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จและจดทะเบียนโดยผู้ประกอบการในกรุงเทพฯและปริมณฑล มีจำนวน 52,715 หน่วย ลดลง 17.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เมื่อแยกรายตลาด พบว่า ตลาดบ้านแนวราบเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียมลดลง โดยที่ตลาดบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดเพิ่มขึ้น 58% ทาวน์เฮาส์เพิ่มขึ้น 12% และคอนโดมิเนียมลดลงถึง 48% ในด้านอุปทานจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ใน กทม.และปริมณฑล ช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย.2566 มีจำนวน 95,527 หน่วย ลดลง 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อุปทานที่ลดลงมาจากตลาดทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียมที่ลดลง 23% และ 10% ตามลำดับ ส่วนตลาดบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดมีการเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้น 17.3%
ส่งผลให้สินค้าบ้านเดี่ยวซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัท มีสภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น จากอุปทานที่เพิ่มขึ้น ต่อเนื่องมาจากปี 2565 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลดังกล่าวพร้อมกับทิศทางของเศรษฐกิจแม้จะมีแนวโน้มที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา แนวโน้มดอกเบี้ยที่จะลดลง แต่ปริมาณการปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังมีแนวโน้มที่สูง รวมทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง
ทำให้บริษัทปรับแผนเปิดโครงการใหม่ในปีนี้เหลือ 11 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 30,200 ล้านบาท เป็นโครงการบ้านเดี่ยว 10 โครงการ และโครงการผสมบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ 1 โครงการ เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ผ่านมา ที่เปิดตัว 17 โครงการ มูลค่า 48,460 ล้านบาท ลดลง 30% หากนับเฉพาะโครงการแนวราบ การเปิดโครงการเพิ่มขึ้น 6% การลงทุนในปีนี้จะไม่มีการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ เนื่อง จากในปี 2566 มีการเปิดโครงการคอนโดมิเนียม วันเวลา ณ เจ้าพระยา ซึ่งมีมูลค่า 15,000 ล้านบาท ที่ยังมีจำนวนห้องเหลือขายอยู่ 65% ขณะที่ภาพรวมของตลาดคอนโด มิเนียมยังไม่ฟื้นตัว บางทำเล เช่น ตามแนวรถไฟฟ้าสีม่วงยังเหลือสต๊อกค้างจำนวนมาก จึงลดความเสี่ยงการลงทุนและหันมาพัฒนาแนวราบ
เมื่อรวมกับโครงการที่ดำเนินการ ระหว่างดำเนินการในปีที่ผ่านมาต่อเนื่องจนถึงปีนี้มีทั้งหมด 73 โครงการ เมื่อรวมโครงการที่ดำเนินการในปี 2567 จะมีทั้งหมด 84 โครงการ มูลค่า 98,550 ล้านบาท โดยเป็นสินค้าแนวราบ 77 โครงการ มูลค่า 82,550 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 7 โครงการ มูลค่า 16,000 ล้านบาท
พร้อมกับตั้งเป้าหมายแผนการดำเนินงานในปี 2567 ตั้งยอดขายไว้ที่ 31,000 ล้านบาท และการรับรู้รายได้จากยอดโอนกรรมสิทธิ์ 28,000 ล้านบาท ส่วนรายได้จากอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า ทั้งในไทยและสหรัฐอเมริกา ตั้งเป้าไว้ที่ 8,540 ล้านบาท สำหรับบ้านเดี่ยวของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จะมีราคาขายเฉลี่ยที่ 16 ล้านบาท
แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มองว่า การปรับขนาดการลงทุนใหม่เพื่อลดความเสี่ยงนั้นเมื่อรวมกับโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องมา ยังรองรับความต้องการได้และสร้างยอดขายได้ต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจอื่นอย่างโรงแรมกลับมาดีกว่าก่อนเกิดโควิด อัตราเข้าพักสูงถึง 95% ส่วนศูนย์การค้าเติบโต 100% บนทำเลนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ย่านสุขุมวิท
แต่บางทำเล เช่น ถนนพระ ราม 3 ที่เป็นย่านที่มีกำลังซื้อสูงแต่ในปีนี้ยังไม่สู้ดีเท่าไรนัก!!
วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่