เจาะลึกหมัด "GO Wholesale" เซ็นทรัล ท้าประชันเจ้าตลาดค้าส่ง เมื่อ “ผู้เล่นในตลาดไม่ควรมีคนเดียว”

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เจาะลึกหมัด "GO Wholesale" เซ็นทรัล ท้าประชันเจ้าตลาดค้าส่ง เมื่อ “ผู้เล่นในตลาดไม่ควรมีคนเดียว”

Date Time: 26 ต.ค. 2566 20:27 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • เปิดแล้ว! “GO Wholesale” (โก โฮลเซลล์) ศูนย์ค้าส่งสินค้าเพื่อผู้ประกอบการร้านอาหารและร้านค้าปลีกรายย่อย แห่งแรกที่สาขาศรีนครินทร์ กำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ วันที่ 27 ตุลาคม 2566 บนพื้นที่กว่า 7,000 ตารางเมตร ที่รายล้อมไปด้วยคู่แข่งรายน้อยใหญ่มากมาย เพื่อทลายข้อจำกัดที่ว่า "ผู้เล่นในตลาดไม่ควรมีรายเดียว" ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการรายย่อย-ใหญ่ ด้วยหมัดเด็ด "บริการ-สินค้าหลากหลาย-ชำระเงินสะดวก-ราคาสมเหตุสมผล"

เรียกได้ว่าสร้างเสียงฮือฮา สะเทือนวงการค้าส่งกันไปแล้วเมื่อ “เซ็นทรัล” ยักษ์ค้าปลีกของไทย ได้ผงาดเร่งเครื่อง ประกาศเปิดตัวผู้เล่นน้องใหม่ในมืออย่าง “Go Wholesale” (โก โฮลเซลล์) ศูนย์ค้าส่งสินค้าเพื่อผู้ประกอบการร้านอาหารและร้านค้าปลีกรายย่อย เมื่อ 14 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อท้าชน “แม็คโคร” ผู้นำธุรกิจค้าส่ง พร้อมดึงอดีตแม่ทัพใหญ่อย่าง “สุชาดา อิทธิจารุกุล” มานั่งคุมประธานธุรกิจใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัล 

และในวันนี้ถือเป็นปฐมฤกษ์การพลิกหน้าประวัติศาสตร์ค้าส่งเมืองไทย ที่จะไม่ได้มีผู้เล่นเพียงหนึ่งเดียวอีกต่อไป โดยเซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ ได้เปิด GO Wholesale (โก โฮลเซลล์) สาขาศรีนครินทร์ แห่งแรกอย่างเป็นทางการที่โอบล้อมไปด้วยคู่แข่งรายน้อยใหญ่ บนพื้นที่กว่า 7,000 ตารางเมตร ที่ในครั้งนี้ใช้งบประมาณ 375 ล้านบาท เพื่อปั้นจุดหมายใหม่ศูนย์ค้าส่งสินค้าเพื่อผู้ประกอบการ แหล่งรวมวัตถุดิบอาหารขนาดใหญ่ จากทุกมุมโลกกว่า 20,000 รายการ ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับน้องใหม่กับการประชันเปิดโฉมใหม่ของ “แม็คโคร” ในวันเดียวกันด้วยเช่นกัน

สุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ จำกัด ในเครือ CRC กล่าวว่า GO Wholesale เป็นศูนย์ค้าส่งสินค้าระบบสมาชิก ในราคาขายส่ง เพื่อผู้ประกอบการ แบรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นมาด้วยความตั้งใจที่จะพลิกโฉมวงการธุรกิจค้าส่ง สร้างทางเลือกใหม่ ให้กับลูกค้าผู้ประกอบการทั้ง กลุ่มโฮเรก้า (โรงแรม, ร้านอาหาร, ธุรกิจจัดเลี้ยง) ผู้ให้บริการอาหารในโรงงาน โรงพยาบาลและหน่วยงานอื่นๆ ร้านค้าปลีก ร้านโชห่วย ที่ต้องการประสบการณ์ที่แตกต่าง ซึ่งเราได้ทำการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการ และนำมาวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งโดยทีมงานที่เชี่ยวชาญในธุรกิจค้าส่ง จนได้รูปแบบของสาขาและบริการที่แปลกใหม่ จำนวนสินค้าที่มีความหลากหลายตอบโจทย์ผู้ประกอบการ เพิ่มความสะดวกด้วยบริการชำระเงินในทุกช่องทาง และต่อยอดระบบสมาชิกที่แข็งแกร่ง ด้วยลอยัลตี้โปรแกรมที่มีสิทธิประโยชน์มากมาย ซึ่งเชื่อมต่อกับลอยัลตี้แพลตฟอร์ม The1 ในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ปด้วย

โดยที่เบื้องต้นได้มีการวางเป้าหมายในช่วงแรกจะมีสมาชิกราว 20,000 คน/สาขา แบ่งเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารส่วนใหญ่ และต่อมาคือร้านโชห่วย และลูกค้าทั่วไป ทั้งนี้เมื่อมีการแข่งขันก็ย่อมนำมาซึ่งความดุเดือดซึ่ง 20,000 รายที่เป็นฐานลูกค้า จะมีส่วนที่มาจากคู่แข่งด้วยเช่นกัน 

อัด 2 หมื่นล้านเพื่อเติบโต 

และหากว่ากันตามตรงข้อได้เปรียบ และจุดแข็ง ของ “โก โฮเซลล์” ที่จะน็อกคู่แข่งและทัชใจลูกค้าได้นั้น คือ การบริการ สินค้าหลากหลาย และการชำระเงินที่สะดวก ส่วนแผนอีก 5 ปีข้างหน้า ยังคงเป็นเช่นเดิมโดย “GO Wholesale” วางเป้าหมายที่จะต้องมีจำนวนสาขามากกว่า 40-50 แห่ง หรือคิดเป็นอัตราการเปิดให้บริการเฉลี่ย 1 สาขาต่อเดือน ภายใต้งบลงทุน 20,000 ล้านบาท

โดยที่จะต้องมีห้างค้าส่งไซต์ขนาด 7,000 ตารางเมตร อย่างน้อย 1 จังหวัด ต่อ 1 ร้าน ส่วนในพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เชื่อว่าจะมีได้อีกหลายสาขา ซึ่งได้มีการวางแผนไว้แล้ว และมีพื้นที่เรียบร้อย แต่เบื้องต้นจะเน้นสาขาแรกให้ปัง และจะทยอยเปิดสาขาถัดมา คือ สาขาที่ 2 ที่เชียงใหม่ และในเดือนธันวาคม คือ พัทยา และอมตะนคร ซึ่งเป้าหมายจะเป็นจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนการลงทุนในสาขาอื่นๆ อาจจะใช้งบประมาณเดียวกันแต่ขึ้นอยู่กับราคาที่ดิน 

ทลายการผูกขาดทางการค้า ผู้เล่นไม่ควรมี 1 ราย

“เราเริ่มทำโกโฮเซลล์จริงจังเมื่อประมาณช่วงเดือนกันยายน 2565 จนกระทั่งเดือนตุลาคม 2566 เราสามารถเปิดได้ 1 สาขา ดังนั้นเราจึงมองว่าตลาดมันใหญ่พอ เพราะมูลค่าตลาดร้านอาหารกว่า 2.6 ล้านบาท ถือได้ว่าเป็นช่องทางที่จะสามารถสร้างรายได้ พร้อมกับขยายการเติบโตได้เป็นอย่างดี และตรงจุดนี้เองควรมีผู้เล่นได้มากกว่า 1 ราย ดังนั้นจะเกิดประโยชน์กับทั้งผู้ผลิต ผู้ซื้อ โดยที่ไม่ต้องยึดติดกับรายใดรายหนึ่งที่จะเป็นการผูกขาดทางการค้า เนื่องจากเราต้องการที่จะให้ลูกค้ามีทางเลือก ดังนั้นโก โฮลเซลล์ จึงถือเป็น “The new choice for all ที่จะให้อะไรกับลูกค้าได้มากกว่าสิ่งที่เคยมี” 

ขณะเดียวกันอีกหนึ่งจุดที่ทำให้โกโฮเซลล์แตกต่างจากคู่แข่งคือ การชำระเงิน ที่สามารถทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิตที่ไม่จำกัดเพียงธนาคารรายเดียว และทุกรูปแบบ ส่วนลูกค้าใหญ่ที่เป็นเชนหลายสาขา ในอนาคตอาจจะมีการทำ Credit term คือ การนำวัตถุดิบเหล่านั้นไปใช้ก่อนแล้วค่อยนำเงินมาจ่ายทีหลัง เพื่อความสะดวกในการซื้อสินค้า ทั้งนี้ในส่วนของ break even หรือมีรายได้เท่ากับรายจ่ายในระยะเวลาประมาณ 2 ปี หลังเปิดดำเนินการ และจะคืนทุนได้ในประมาณ 3-4 ปี 

สุชาดา มองว่า “ด้านการเงินมีส่วนกลาง CRC ดูแล ทางกลุ่มของโก โฮเซลล์ มีหน้าที่ทำสโตร์ให้ดี ให้ลูกค้าชอบ และขายดี ดังนั้นจะต้องมีการทำ Feasibility Study หรือศึกษาความเป็นไปได้ วิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน แม้จะไม่ได้จับเรื่องเงินเอง แต่ก็รู้ดีว่าควรจะไปทางไหน รับผิดชอบตรงส่วนไหนบ้าง เพราะประสบการณ์จะสอนเราเอง ขณะที่กำลังซื้อในช่วงปลายปีมองว่า ต่อให้ไม่มีเงินคนก็ใช้เงิน เพราะบรรยากาศเอื้อซึ่งไม่เป็นลบอย่างแน่นอน”

หากดูใน GO Wholesale จะมีไฮไลต์เด่น ดังนี้ 

ไม่ว่าจะเป็น แหล่งรวมอาหารสดขนาดใหญ่ เสมือนยกทะเล และสวนผักสวนผลไม้มาไว้ที่นี่ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 40%, บริการตัดแต่งสินค้าตามความต้องการใช้งานที่แผนกเนื้อ อาหารทะเล (ปลา) ผัก โดยมีระบบคิวคอยแจ้งเตือน เมื่อดำเนินการเรียบร้อย, บริการบ่มเนื้อ Dry Age เสริมรสชาติให้เนื้อมีความเข้มข้น สามารถซื้อแล้วฝากบ่มไว้ตามระยะเวลาที่ต้องการได้, ศูนย์รวมของวัตถุดิบที่เป็นสินค้าเอสเอ็มอีชื่อดังจากทุกพื้นที่ทั่วไทย อาทิ เครื่องแกงจาก 4 ภาค, Beverage Solution มุมให้คำปรึกษากับผู้ที่ต้องการเริ่มต้น ต่อยอด หรือพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่ม, สินค้าที่เกี่ยวกับธุรกิจเดลิเวอรี ธุรกิจออนไลน์ ศูนย์ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เช่น เช่าอุปกรณ์ในครัว ลดปัญหาเรื่องเงินลงทุนและเพิ่มเงินหมุนเวียน ฯลฯ, ห้องเวิร์กช็อป

“เราต้องการเป็นศูนย์ค้าส่งสินค้า ที่สร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายให้ผู้ประกอบการทุกคนได้ค้นพบสูตรแห่งความสำเร็จ ที่เป็นทางเลือกใหม่ในการทำธุรกิจให้แตกต่าง พร้อมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ช่วยเสริมศักยภาพให้ทุกธุรกิจก้าวไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนไปด้วยกัน ผ่านการส่งมอบประสบการณ์ใหม่ในระบบสมาชิกที่มีสิทธิประโยชน์มากมาย ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจใดๆ ก็ตาม รวมทั้งมีแบรนด์สินค้าของโก โฮเซลล์ ทั้ง A choice, หมูมาเฟีย, บิงโก, Zip, Value pack, Super save ฯลฯ”

ทำเลทองย่านศรีนครินทร์ จุดยุทธศาสตร์การเติบโตของธุรกิจ

ทั้งนี้หากมองในมุมของ Go Wholesale ที่ถือเป็นน้องใหม่ในสมรภูมินี้ การเลือกที่จะเปิดศูนย์ค้าส่งฯ ก็เพราะ มีพื้นที่อยู่แล้ว บวกกับพื้นที่ดังกล่าวผู้บริโภคมีกำลังซื้อ มีผู้ประกอบการเยอะประมาณนึง เห็นได้จากพื้นที่ศรีนครินทร์ บางพลี สมุทรปราการ มีโรงงาน สำนักงาน บ้านเรือนจำนวนมาก รวมทั้งตลาดอาหารในพื้นที่สมุทรปราการมีมูลค่ากว่า แสนล้านบาท ถือเป็นตลาดที่ใหญ่พอสมควร รวมทั้งมีประชากรกว่า 1.4 ล้านคน 7 แสนครัวเรือน นั่นจึงทำให้สมุทรปราการเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการเติบโตธุรกิจ ซึ่งจะแข่งขันได้สบายและเข้าถึงกำลังซื้อที่เป็น mass ได้มากขึ้น เห็นได้จากการที่มีแบรนด์คู่แข่งเปิดในละแวกใกล้เคียงเช่นกัน ทั้งหมดนี้จึงถือได้ว่าเป็นการช่วงชิงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่จะต้องอาศัยสรรพกำลังที่มี และกลยุทธ์หมัดเด็ดที่จะทำให้ตนเอง “น็อกเอาต์” คู่แข่งได้

ดังนั้นเมื่อ “ยักษ์ ชน ยักษ์” จึงถือได้ว่าสมรภูมินี้ไม่มีจุดสิ้นสุด เพราะกลายเป็นว่าการที่เซ็นทรัลในฐานะผู้นำทางด้านค้าปลีก กระโดดลงมาเล่นในตลาดนี้ก็เรียกได้ว่า สมน้ำสมเนื้อไม่น้อย ด้วยฐานลูกค้าที่มี ประกอบกับบริษัทในเครือที่แข็งแกร่ง และการเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ว่า “ความต้องการ” ที่แท้จริงคืออะไร นั่นจึงกลายเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้เซ็นทรัลกล้าที่จะย่างกรายเข้ามา ท้าประชันกับเจ้าตลาดที่อยู่ก่อนหน้านี้ได้

และเมื่อการแข่งขันมันรุนแรง ก็ย่อมนำมาซึ่ง “คุณภาพ” และ “การบริการ” ที่ดีขึ้นที่ต่างแบรนด์ต่างพัฒนาเพื่อที่จะทำให้ตัวเองชนะคู่แข่งขัน ในยุคที่ต้องช่วงชิงกำลังซื้อของผู้บริโภค และเมื่อนั้นเองผู้ที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่คนอื่นไกลแต่ก็คือ “ลูกค้า” นั่นเอง ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องตระหนักคือ “การสร้างแบรนด์” ที่จะต้องมาจากการสร้างความประทับใจ และต้องทัชใจ ทั้งตัวของผู้บริโภค และซัพพลายเออร์ด้วยเช่นกัน จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม “โก โฮเซลล์” ถึงให้ความสำคัญกับทุกๆ ฝ่ายที่ถือเป็น “Stakeholders” หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั่นเอง 

โดยศูนย์ค้าส่ง “GO Wholesale ศรีนครินทร์” เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป โดยเปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-22.00 น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ