นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนางสาวชนัญญา พรรณรักษา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ถึงการขยายตลาดสินค้ารามยอน หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเกาหลีใต้ และโอกาสขยายตลาดของไทยไปประเทศต่างๆว่า ปัจจุบันบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ของเกาหลีใต้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เป็นผลมาจากการเชื่อมโยงสินค้าเข้ากับวัฒนธรรมเกาหลีใต้ ภาพยนตร์ และศิลปิน K-Pop หรือผู้ทรง อิทธิพลทางความคิด (Influencer) เช่น การเปิดตัวรามยอนยี่ห้อหนึ่งในภาพยนตร์เกาหลีใต้ เรื่อง Parasite ที่ได้รับรางวัลออสการ์ ในปี 2562
“การเข้าถึงรามยอนเกาหลีใต้จากทั่วโลก ขยายไปสู่ช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น บะหมี่ยี่ห้อ “Buldak” เป็นที่รู้จักของทั่วโลก เพราะศิลปินชื่อดังระดับโลกอย่าง “จีมิน” วง BTS และ “โรเซ่” วง Blackpink ให้การสนับสนุนและยังมีกิจกรรมท้ากินบะหมี่เผ็ด “Fire Noodle Challenge” ที่แพร่หลายในโซเชียลมีเดีย ซึ่งช่วยโฆษณาสินค้า และเป็นความท้าทายที่หลายคนอยากทดลองชิม ส่งผลให้รามยอนเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของ K-Food เช่นเดียวกับ K-Pop
ทั้งนี้ ส่งผลให้การส่งออกรามยอนของเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 และ ช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค.ที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 520.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 17.7% เฉพาะเดือน ก.ค. ปริมาณการส่งออกเพิ่มมากกว่า 4 เท่า จาก 30,305 ตัน ในปี 2558 เป็น 134,791 ตัน ทำให้ บริษัทรามยอนชั้นนำในเกาหลีใต้ เร่งขยายโรงงานผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น
“ล่าสุดบริษัท Nongshim ผู้ผลิตรามยอน ของเกาหลีใต้ ได้ร่วมมือกับเจ๊ไฝ เจ้าของร้านอาหาร ไทยที่ได้รับรางวัลมิชลินสตาร์ 1 ดาว เปิดตัวรามยอนรสใหม่ รสต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นซอฟต์เพาเวอร์ด้านอาหารของไทย นับเป็นการร่วมมือครั้งแรกระหว่าง รามยอนเกาหลีใต้ และอินฟลูเอนเซอร์ไทย คาดว่า จะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับบริษัทมากยิ่งขึ้น และเป็นการขยายความนิยมของเมนูอาหารต้มยำกุ้งของไทยไปสู่ทั่วโลกให้เพิ่มมากขึ้น”
สำหรับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรืออาหารของไทยอาจนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้ เพื่อส่งเสริมการตลาดโดยการเชื่อมโยงกับซอฟต์ เพาเวอร์ของไทยที่น่าสนใจ เช่น ศิลปินชื่อดังของไทยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ หรือเปิดตัว สินค้าใหม่ๆ ที่ร่วมมือกับเชฟร้านอาหารดัง ซึ่งจะช่วยดึงดูดความสนใจผู้บริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวถึงรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMESI) ประจำเดือน ส.ค. เทียบกับ เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยพบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 51.4 ลดลงจากระดับ 52.0 เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอลง ปริมาณการสั่งซื้อต่อครั้งลดลงตามภาระค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อความมั่นใจในการลงทุนของผู้ประกอบการและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ทำให้กระทบกับยอดขายและปริมาณ การผลิต/ บริการเกือบทุกภาคธุรกิจ รวมถึงการท่องเที่ยวในหลายภูมิภาค ประกอบกับปัจจัยด้านต้นทุนธุรกิจยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะต้นทุนด้านการขนส่ง ราคาพลังงานและค่าสาธารณูปโภคที่คงตัวในระดับสูง.