"อาร์เอส-แกรมมี่" กลับเข้าสู่อุตสาหกรรมเพลง

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"อาร์เอส-แกรมมี่" กลับเข้าสู่อุตสาหกรรมเพลง

Date Time: 5 ส.ค. 2566 05:10 น.

Summary

  • ทั้ง “อาร์เอส–แกรมมี่” ในอดีตนับเป็นคู่แข่งขันสำคัญสำหรับกลุ่มคนในยุคปลายของ “เจนวาย” หรือใกล้ๆ 40 ปีเป็นต้นไป จะรู้จักศิลปินทั้งสองค่ายเป็นอย่างดี ซึ่งในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเพลงได้รับผลกระทบหรือ Disrupt จากโลกออนไลน์ที่เริ่มนิยมดาวน์โหลดเพลงไฟล์ MP3 มาฟังกันแบบง่ายๆและฟรีๆ จนทำให้เทปและต่อมาเป็นแผ่นซีดีได้รับผลกระทบ

Latest

จากเด็กชอบคอมพิวเตอร์สู่ "iHAVECPU" จากทุน 4 หมื่นสู่ยอดขาย 1,800 ล้านบาท

หลายๆคนสงสัยกันว่า 2 ยักษ์ใหญ่ในวงการเพลงไทยมีความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่สำหรับการหวนสู่อุตสาหกรรมเพลงอย่างจริงจังอีกครั้งในปีนี้ ประกาศ Spin-Off นำธุรกิจเพลงแยกตัวออกตั้งบริษัทใหม่โดยมีเป้าหมายนำจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ทั้ง “อาร์เอส–แกรมมี่” ในอดีตนับเป็นคู่แข่งขันสำคัญสำหรับกลุ่มคนในยุคปลายของ “เจนวาย” หรือใกล้ๆ 40 ปีเป็นต้นไป จะรู้จักศิลปินทั้งสองค่ายเป็นอย่างดี ซึ่งในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเพลงได้รับผลกระทบหรือ Disrupt จากโลกออนไลน์ที่เริ่มนิยมดาวน์โหลดเพลงไฟล์ MP3 มาฟังกันแบบง่ายๆและฟรีๆ จนทำให้เทปและต่อมาเป็นแผ่นซีดีได้รับผลกระทบ

นับเป็นช่วงเวลาทั้ง 2 ค่ายโลว์โปรไฟล์ ปล่อยให้ธุรกิจเพลงมีรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ให้ร้านอาหาร คาราโอเกะ โชว์บิส และขายลิขสิทธิ์ออนไลน์ให้กลุ่มโซเชียลมีเดียต่างๆ อาทิ Youtune, Facebook, Instagram และ TiKTok เป็นต้น และบริการสตรีมมิง Spotify, Apple Music, Deexer และ JOOK เป็นต้น ซึ่งแม้จะเป็นรายได้ที่ไม่มีต้นทุนและรับเต็มๆ แต่ธุรกิจไม่มีการเติบโต

ทุกวันนี้แทบทุกคนไลฟ์สไตล์ใช้ชีวิตประจำวันผ่านออนไลน์ สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับการใช้ทำงานและความบันเทิง ซึ่งสตรีมมิงกลายมาเป็นบริการยอดนิยมจากผู้คนไม่ว่าจะเป็นการรับชมภาพยนตร์หรือฟังเพลงผ่านแอปพลิเคชันที่จะต้องการจ่ายเงินสำหรับการรับชมรับฟังกัน

ทั้ง “อาร์เอส–แกรมมี่” มองเห็นว่าตลาดนี้เติบโตมีขนาดใหญ่ในระดับใกล้ๆธุรกิจเทป–ซีดีในยุคก่อนได้ จึงมองว่าเป็นจังหวะที่ดีสำหรับรุกตลาดเพลง “ยุคใหม่” ที่สำคัญการเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆที่เติบโตมาหลังยุค “อาร์เอส–แกรมมี่” กลับมาเป็นที่รู้จักและฟังเพลงจากศิลปินสองค่ายยักษ์ที่เตรียมการรุกตลาดในเร็วๆนี้

ในอดีตที่สองค่ายนี้เป็นคู่แข่งกันโดยตรง ได้กลับมาจับมือร่วมทุนตั้งบริษัทเพื่อจัดคอนเสิร์ตรวมศิลปินทั้งสองกว่า 100 ชีวิต ค่ายในยุค 1990 และ 2000 จากคู่แข่งกันมารวมบนเวทีคอนเสิร์ตเดียวกันและมีแผนจัดไปในช่วง 3 ปีข้างหน้าน่าจะเป็นการจุดกระแสการเริ่มต้นปลุกชีพแบรนด์ทั้งสอง

นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีเอ็มเอ็ม มิวสิค และ นายฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีเอ็มเอ็มมิวสิค ได้ร่วมกันให้ข้อมูล ที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) อนุมัติแผน Spin-Off ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อดำเนินธุรกิจเพลงแบบครบวงจรภายใต้คอนเซปต์ “New Music Economy” โดยในยุคปัจจุบันอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกได้เติบโตกลับมาถึงจุดที่เรียกว่า “Music Second Wave” ซึ่งหมายความว่า อุตสาหกรรมทั่วโลกมียอดรายรับทะลุจุดสูงสุดที่เคยสร้างไว้ในอดีตและคาดว่าจะเติบโตเพิ่มอีกเท่าตัวจากแพลตฟอร์มสตรีมมิงและโชว์บิส

นับจากนี้ไปจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมเพลง ไทยเติบโตร่วมไปกับทุกศิลปิน ทุกค่ายเพลง เพื่อความเจริญรุ่งเรืองสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตไม่แพ้สัดส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจเพลงในตลาดโลก

ทางจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้วาง 7 กลยุทธ์สำหรับการรุกตลาดเพลงครบวงจร ซึ่งหลักๆจะเป็นการเพิ่มการผลิตเพลงจากปีละ 400 เพลง เป็น 1,000 เพลง เพิ่มศิลปินเป็น 200 ศิลปิน ภายใน 5 ปี จาก 120 ศิลปิน การสร้างเพลย์ลิสต์สู่แพลตฟอร์มสตรีมมิง จาก 3,000 เพลย์ลิสต์ เป็น 6,000 เพลย์ลิสต์ ต่อปี อัลบั้มเพลงจาก 30 อัลบั้ม เป็น 50 อัลบั้ม ศิลปินฝึกหัดจาก 150 ศิลปิน เป็น 300 ศิลปิน ต่อปี

การขยายธุรกิจโชว์บิสในมิวสิค เฟสติวัลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ การจับมือกับพันธมิตรทางดนตรี รวมไปถึงร่วมทุนกับพันธมิตรจากต่างประเทศเพื่อนำศิลปินไทยไปสู่ระดับสากลเป็นต้น บริษัทตั้งประมาณการที่จะสร้างรายได้ที่ 3,800 ล้านบาท ในปี 2566 นี้ และพร้อมที่จะเดินหน้าสู่การสร้างผลประกอบการแบบนิวไฮภายในปี 2567 ที่จะถึงนี้

ก่อนหน้านี้อาร์เอสโดยนายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศ Spin–Off ธุรกิจดนตรีไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยการให้เหตุผลว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสมแล้วที่จะกลับสู่อุตสาหกรรมเพลงอีกครั้ง หลังจากเว้นว่างไปถึง 15 ปี

ด้วยโมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงมาสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิงที่เปลี่ยนโฉมหน้าธุรกิจเพลงใหม่หมด พร้อมกับจับมือพันธมิตรในและต่างประเทศกับเป้าหมาย 3 ปีจะทำรายได้ในส่วนของดนตรีถึง 1,200 ล้านบาท โดยกระบวนการนำอาร์เอส มิวสิคเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์น่าจะอยู่ในช่วงปลายปีหน้า

ไว้รอฟังผลงานเพลงจากศิลปินหน้าใหม่ๆที่จะเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ตลาดใหม่ๆของสองค่ายยักษ์นี้ต่อไป.

วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “ตลาดนัดหัวเขียว” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ