ลุ้นเคาะแพ็กเกจอีวี 3.5! ไม่หวั่นเพื่อนบ้านแย่งเป็นศูนย์กลางรถอีวี

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ลุ้นเคาะแพ็กเกจอีวี 3.5! ไม่หวั่นเพื่อนบ้านแย่งเป็นศูนย์กลางรถอีวี

Date Time: 7 ก.ค. 2566 05:30 น.

Summary

  • บอร์ดอีวีลุ้นรัฐบาลใหม่เคาะแพ็กเกจอีวี 3.5 เริ่มใช้ 1 ม.ค. 67 ที่กำหนดให้ส่วนลดราคารถยนต์อีวีนำเข้า และกำหนดให้ค่ายรถตั้งโรงงานผลิตอีวีในไทย 2-3 เท่า จากจำนวนที่นำเข้า ตลอดจนการให้สิทธิประโยชน์กระตุ้นการลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวี ไม่หวั่นเพื่อนบ้านออกมาตรการมาแย่งลูกค้า

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

บอร์ดอีวีลุ้นรัฐบาลใหม่เคาะแพ็กเกจอีวี 3.5 เริ่มใช้ 1 ม.ค. 67 ที่กำหนดให้ส่วนลดราคารถยนต์อีวีนำเข้า และกำหนดให้ค่ายรถตั้งโรงงานผลิตอีวีในไทย 2-3 เท่า จากจำนวนที่นำเข้า ตลอดจนการให้สิทธิประโยชน์กระตุ้นการลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวี ไม่หวั่นเพื่อนบ้านออกมาตรการมาแย่งลูกค้า

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการและเลขานุการร่วมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยภายหลังการลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์มุ่งสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) สถาบันยานยนต์ (สยย.) และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ว่า เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อย บอร์ดอีวีจะรอความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ว่าจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างบอร์ดหรือไม่

ทั้งนี้ หากรัฐบาลใหม่ยังคงโครงสร้างเดิม บอร์ดชุดนี้ก็จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติมาตรการอีวี 3.5 ที่กำหนดทั้งการให้ส่วนลดราคารถยนต์อีวีนำเข้า การกำหนดให้ค่ายรถตั้งโรงงานผลิตอีวี ตลอดจนการให้สิทธิประโยชน์กระตุ้นลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวี

สำหรับมาตรการใหม่นี้จะครอบคลุมและเพิ่มเติมจากมาตรการอีวี 3.0 จากปัจจุบันที่กำหนดให้ตั้งโรงงานผลิตอีวีเท่านั้น ซึ่งมาตรการจะหมดอายุสิ้นปีนี้ เพื่อให้มาตรการอีวี 3.5 เริ่มใช้วันที่ 1 ม.ค.2567 ขณะเดียวกันแนวทางส่งเสริมดังกล่าว ก็เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอีวีของอาเซียนจากเป้าหมายการผลิตอีวี 30% ของการผลิตรถยนต์รวมของประเทศภายในปี 2573 บวกกับเทรนด์โลกปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ด้วยการใช้ความเข้มแข็งที่มีอยู่ต่อยอดสิ่งใหม่

ล่าสุด ภาครัฐและเอกชนจึงเดินหน้าด้านการทำวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและนักวิจัยอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการร่วมมือพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในอนาคต

“กรณีที่ประเทศในอาเซียนประกาศตัวเป็นศูนย์กลางการผลิตอีวีเช่นเดียวกับไทย เรื่องนี้ไม่แปลกใจ เพราะมีการประกาศมาตลอด ซึ่งประเทศไทยทราบดีและพยายามออกมาตรการกระตุ้นลงทุน ทั้งการออกแพ็กเกจอีวี 3.0 ผ่านส่วนลดผู้ซื้อสูงสุด 150,000 บาทต่อคัน ซึ่งค่ายรถยนต์ต้องผลิตชดเชยตามจำนวนที่นำเข้า”

นายณัฐพล ยังกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน การออกมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ การลดภาษีจดทะเบียนประจำปี การติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้าในที่สาธารณะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรการอีวี 3.5 รัฐบาลจะอุดหนุนผ่านส่วนลดรถยนต์อีวีนำเข้า 100,000 บาทต่อคัน และกำหนดให้ค่ายรถยนต์ต้องตั้งโรงงานผลิตอีวีในประเทศไทย 2-3 เท่า จากจำนวนที่นำเข้า และเน้นจูงใจค่ายรถยนต์ที่ยังไม่ร่วมมาตรการอีวี 3.0 อาทิ ค่ายยุโรป แต่คาดว่าจะได้รับความสนใจ เพราะปัจจุบันตลาดอีวีในประเทศเติบโตสูงมากหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ต่อเดือน โดยปีนี้คาดว่ายอดอีวีจดทะเบียนป้ายแดงจะสูงถึง 60,000 คัน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ