กรณีศึกษา "สลัด แฟคทอรี่" สู่เชน "ซีอาร์จี"

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กรณีศึกษา "สลัด แฟคทอรี่" สู่เชน "ซีอาร์จี"

Date Time: 8 เม.ย. 2566 05:45 น.

Summary

  • ร้านสลัด แฟคทอรี่ (Salad Factory)ร้านอาหารเพื่อสุขภาพกับจุดขายเมนูสลัดด้วยผักออร์แกนิกเสิร์ฟมาพร้อมน้ำสลัดแบบโฮมเมดหลากหลายประเภท โดยผู้ก่อตั้ง นายปิยะ ดั่นคุ้ม นำประสบการณ์ทำธุรกิจร้านอาหาร

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

กรณีศึกษาของร้านอาหารผู้ประกอบการขนาดเล็ก เริ่มต้นจากอาคารพาณิชย์ ห้องแถวเดียว ที่สั่งสมการเรียนรู้ ประสบการณ์ รวมไปถึงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ฝ่าฟันกับอุปสรรคมามากมายจนสามารถขยายตัวยืนหยัดในธุรกิจมาได้อย่างมั่นคง สู่เป้าหมายยอดขายระดับพันล้านบาทในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ร้านสลัด แฟคทอรี่ (Salad Factory) ร้านอาหารเพื่อสุขภาพกับจุดขายเมนูสลัดด้วยผักออร์แกนิกเสิร์ฟมาพร้อมน้ำสลัดแบบโฮมเมดหลากหลายประเภท โดยผู้ก่อตั้ง นายปิยะ ดั่นคุ้ม นำประสบการณ์ทำธุรกิจร้านอาหารในสหรัฐฯ มาเปิดร้านอาหารย่านเมืองทองธานีจากการเริ่มต้นกับยอดขายระดับหลักพันบาทยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก

หลังจากหมดสัญญาเช่า เจ้าของอาคารต้องการพื้นที่คืนเลยย้ายมาที่โครงการบีไฮฟ์ที่อยู่ใกล้ๆกัน พร้อมๆกับการแก้ปัญหา “เพนพ้อยท์” หรือจุดอ่อนของร้านอาหารที่เน้นสลัดก็คือ กลุ่มลูกค้าครอบครัวมักจะมีสมาชิกที่ไม่ชอบรับประทานผัก หรือไม่ทานเลย จึงต้องพัฒนาเมนูให้หลากหลายทำให้เมนูสลัดทานได้ง่าย อร่อย และราคาคุ้มค่า รวมไปถึงเมนูเนื้อสัตว์ต่างๆเป็นทางเลือก ดังนั้นเมนูจึงมีความหลากหลายมากกว่า 200 เมนู ตอบโจทย์ทุกสมาชิกกลุ่มครอบครัวได้ดี

จุดพลิกผันครั้งใหญ่ ก็คือ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) หนึ่งในผู้นำผู้ประกอบการเชนร้านอาหารได้เจรจาร่วมทุนระหว่าง CRG ถือหุ้น 51% และสลัดแฟคทอรี่ 49% นับเป็นกลยุทธ์ที่ “วิน-วิน” ของทั้งสองฝ่าย คือ CRG เสริมพอร์ตธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ และแบรนด์ใหม่ๆ โดยสลัดแฟคทอรี่จะเป็นผู้บริหารโดยได้โนว์ฮาว ระบบการจัดการเงินทุนที่จะช่วยกันขยายธุรกิจให้เติบโตพร้อมกันไปในอนาคต

นายปิยะ ดั่นคุ้ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด ผู้บริหารร้านอาหาร “สลัด แฟคทอรี่” กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดร้านอาหารเพื่อสุขภาพยังเป็นกระแส ผู้บริโภคตื่นตัวรับเทรนด์อาหารดูแล สุขภาพ ซึ่งในปีที่ผ่านมาตลาดเติบโตสูงถึง 60% มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท แต่แนวโน้มการแข่งขันรุนแรงมีแบรนด์ใหม่มองเห็นโอกาสลงสู่สนามแข่งขันทั้งแบรนด์ในและต่างประเทศ และคาดว่าในปีนี้ตลาดจะเติบโตอีก 60% หรือมูลค่าถึง 8,000 ล้านบาท

สำหรับร้านสลัด แฟคทอรี่ในปีที่ผ่านมาธุรกิจเติบโตถึง 70% ยอดขายรวม 438 ล้านบาท พร้อมกับขยายสาขาใหม่ 12 สาขามากที่สุดตั้งแต่แบรนด์ก่อตั้งมา ปัจจุบันจำนวน 31 สาขา และโรงงาน 1 แห่ง ซึ่งเป็นทั้งโรงงานผลิตน้ำสลัดที่ได้มาตรฐานระดับสากล และครัวกลางที่เป็นส่วนสำคัญในการส่งวัตถุดิบที่ได้คุณภาพและมาตรฐานให้กับทุกสาขา

สำหรับปีนี้คาดว่าจะขยายสาขาใหม่เพิ่มอีก 9 สาขา พร้อมกับก้าวสู่ปีที่ 10 ของร้านสลัด แฟคทอรี่ พร้อมตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตอีก 60% ดันยอดขายที่ 700 ล้านบาท ตั้งเป้าก้าวสู่การเป็น Top of Mind เป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจผู้บริโภค

พร้อมตอกย้ำแนวคิด “Always Day1 Spirit” ด้วยการทำอาหาร สุขภาพสไตล์โฮมเมดให้อร่อย จากวัตถุดิบที่ดีและปลอดภัย ผ่านการปรุงอย่างสร้างสรรค์ในราคาที่คุ้มค่า เหมือนกับจุดเริ่มต้นของแบรนด์ในวันแรก

“การเติบโตหลังครบรอบปีที่ 10 จะเน้น 4 กลยุทธ์หลักคือ 1.ลงทุนเพิ่ม 70 ล้านบาท เพื่อขยายสาขาใหม่และไปต่างจังหวัดเป็นสาขาแรกที่พัทยา พร้อมโมเดลธุรกิจร้านใหม่ๆ และขยายเวลาเปิด-ปิด 2.ปรับปรุง 4 สาขาเดิม 3.ธุรกิจที่ไม่ใช่ร้านอาหารเช่น ขายน้ำสลัดจะขยายธุรกิจออกไป ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 50 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมา 18 ล้านบาท จากปีแรกที่เริ่มทำในปี 2564 มียอดขายเพียง 2 ล้านบาท และ 4 .ขยายธุรกิจดีลิเวอรีและออนไลน์ทูออฟไลน์”

ขณะเดียวกัน ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ได้จัดกิจกรรมพิเศษ 10 ประสบการณ์ใหม่ ตลอดปี 2566 ทั้งในเรื่องของเมนูใหม่ และรูปแบบการนำเสนอใหม่ๆ และส่วนสุดท้ายคือการสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน โดยจะเปิดให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมมากยิ่งขึ้น

นับเป็นกรณีศึกษาของผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่มีโอกาสขยายธุรกิจไปสู่หลักพันล้านบาทได้หากพัฒนาโมเดลธุรกิจตอบโจทย์ลูกค้าได้ มีโอกาสเติบโตในอนาคตจนเป็นที่น่าสนใจให้บริษัทยักษ์ใหญ่สนใจเข้ามาชวนลงทุนเพื่อสร้างอนาคตไปด้วยกัน!!

วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ