กรุงเทพประกันภัย ชี้ประกันรถยนต์ชั้น 2 มาแรง พร้อมปรับกรมธรรม์ เพิ่มความคุ้มครองกระจกหน้า ชูราคาไม่แพงมาก ล่าสุดประกาศแผนปี 66 ตั้งเป้าเบี้ยฯ 30,000 ล้านบาท โต 12.5%
ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในปี 65 ที่ผ่านมาแม้จะสามารถขยายงานด้านเบี้ยประกันภัยรับรวมได้เกินเป้าหมาย ซึ่งเติบโตจากปี 64 ประมาณ 8.8% หรือคิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวม 26,676.3 ล้านบาท และมีรายได้สุทธิจากการลงทุน 6,254.6 ล้านบาท
แต่เนื่องด้วยภาระผูกพันในการจ่ายเคลมสินไหมทดเเทนประกันภัยโควิด-19 ที่สิ้นสุดลงในช่วงไตรมาสที่ 2/65 ส่งผลทำให้บริษัทฯ ยังมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 638.4 ล้านบาท โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 5.00 บาท รวมทั้งปี 15.50 บาท
บนพื้นฐานของการมีความมั่นคงทางการเงิน และมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน หรือ CAR สูงกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ประมาณ 179.4% (ณ 30 ก.ย. 65) พร้อมยืนหยัดความแข็งแกร่งด้วยการรักษาอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินในระดับสูงหรือ Credit Rating A- (Stable) (ณ พ.ย. 65) โดย Standard & Poor's (S&P) สถาบันการจัดอันดับทางการเงินชั้นนำของโลก
สำหรับแนวโน้มของธุรกิจประกันวินาศภัยปี 2566 กรุงเทพประกันภัยประเมินว่าภาพรวมธุรกิจจะได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าหลังผ่านพ้นช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด แเละกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทั่วโลกกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ
โดยธุรกิจประกันวินาศภัยจะได้รับประโยชน์จากยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในปี 2566 ที่คาดว่าจะเติบโตเป็นบวกต่อเนื่องเป็นปีที่สอง และการขยายตัวของประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว หลังจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมถึงยังมีนโยบายจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในอัตรา 150-300 บาทต่อคน ซึ่งคาดว่าค่าธรรมเนียมส่วนหนึ่งจะนำมาเป็นเบี้ยประกันภัยสุขภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ด้านตลาดการรับประกันภัยต่อ ยังคงมีการปรับอัตราเบี้ยประกันภัยขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงและมีความถี่สูงขึ้นจากปัญหา Climate Change ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ต้นทุนการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มสูงขึ้น
บริษัทประกันภัยจึงมีโอกาสได้รับเบี้ยประกันภัยที่สูงขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันการแข่งขันด้านราคามีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์ ภายหลังจากที่บริษัทประกันภัยหลายแห่งต้องถูกปิดกิจการเเละประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักในปีที่ผ่านมา
ผนวกกับการเตรียมรับมือกับอัตราค่าสินไหมทดแทนของประกันภัยรถยนต์ที่มีแนวโน้มจะเริ่มกลับมาสูงขึ้น เมื่อการเดินทางและการใช้ชีวิตของผู้คนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
จากปัจจัยที่สนับสนุนข้างต้น สมาคมประกันวินาศภัยไทยประเมินว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2566 คาดว่าจะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.5 - 5.0 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ท่ามกลางปัจจัยที่ท้าทายหลายประการ
เช่น กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับเพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ที่อาจได้รับผลกระทบจากการยกเลิกผ่อนปรนมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย และราคาบ้านอยู่อาศัยที่ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณเบี้ยประกันอัคคีภัย
เช่นเดียวกับประกันภัยทางทะเลและขนส่งที่ย่อมได้รับผลกระทบจากการส่งออกของประเทศที่หดตัวลงตามการชะลอของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ประกันภัยสุขภาพ แม้จะได้รับผลบวกจากการที่ผู้บริโภคตระหนักถึงความเสี่ยงด้านการเจ็บป่วยเเละภาระค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น
แต่บริษัทประกันภัยมีแนวโน้มจะเพิ่มความระมัดระวังในการขยายงานประเภทนี้มากขึ้น ภายหลังเริ่มบังคับใช้มาตรฐานใหม่ของการประกันภัยสุขภาพ ส่งผลให้ความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยในการรับประกันจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ดร.อภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะยังมีความเปราะบาง แต่ก็ได้ผ่านพ้นแรงกระแทกใหญ่ๆ ไปแล้ว จึงกลายเป็นความท้าทายที่มาพร้อมกับโอกาส เปรียบเสมือนช่วงเวลาแห่งการพลิกฟื้นประสิทธิภาพสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
โดยปีนี้ถือเป็น Year of Resilience ที่องค์กรจะสะท้อนกลับไปสู่เป้าหมายที่ไกลกว่า บริษัทฯ พร้อมที่จะกลับไปสู่จุดที่แข็งแกร่งและมั่นคงยิ่งกว่าเดิม ผ่านการเรียนรู้จากวิกฤติเพื่อให้เกิดการพัฒนาและปรับตัวให้ดียิ่งขึ้น ยึดหลักสร้างดุลยภาพ ในการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพและการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ หรือ ESG โดยคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล ส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกค้า คู่ค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น พร้อมมุ่งทำประโยชน์เพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
ในปี 2566 นี้ กรุงเทพประกันภัยตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท เติบโตที่ร้อยละ 12.5 แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ประมาณ 13,096 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่ประกันภัยรถยนต์หรือ Non-Motor ประมาณ 16,904 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่างและความมุ่งมั่นเพื่อยกระดับการบริการให้มีศักยภาพมากยิ่ง
ประกันรถยนต์ชั้น 2 ได้รับความนิยม
จากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ผู้บริโภครัดเข็มขัด ควบคุมค่าใช้จ่ายมากขึ้น ประกันภัยรถยนต์ประเภท 2+ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้บริโภคให้ความสนใจและตัดสินใจเลือกทำประกันภัยจนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
บริษัทฯ จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ 2+ Super Special ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคผ่านความคุ้มครองที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น และคุ้มค่าในราคาที่เหมาะสมกับสภาวะค่าครองชีพปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมภัยธรรมชาติ
ได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ลูกเห็บ และลมพายุ รวมถึงคุ้มครองทั้งตัวรถ ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอก ล่าสุดกับความพิเศษที่มากขึ้นด้วยการบวกเพิ่มความคุ้มครองความเสียหายจากการพลิกคว่ำหรือตกข้างทาง
พิเศษยิ่งขึ้นกับความคุ้มครองความเสียหายต่อกระจกบังลมรถยนต์ อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการชน เช่น หินกระเด็นใส่ กิ่งไม้หล่นใส่ หรือกระทบกับวัตถุต่างๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ ประกันภัยรถยนต์ 2+ Super Special ของกรุงเทพประกันภัยถือเป็นเจ้าแรกในตลาดประกันวินาศภัยไทยที่เพิ่มความคุ้มครองความเสียหายต่อกระจกบังลมรถยนต์ โดยเบี้ยประกันภัยเริ่มต้นเพียง 7,300 บาท
รถอีวีมาแรงพร้อมขยายแผนใหม่ๆ
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวีในไทย ปี 2565 ที่มีจำนวนกว่า 9,729 คัน เพิ่มขึ้นกว่า 402.8% จากปี 2564 ซึ่งนอกเหนือจากปัจจัยการตื่นตัวด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ราคาน้ำมันที่ยังสูงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา
บริษัทฯ ได้รับประกันภัยรถยนต์ ประเภท 1 ซ่อมห้างสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ได้กระแสตอบรับที่ดี และมีจำนวนผู้ทำประกันภัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความไว้วางใจในความมั่นคง คุณภาพการบริการ การดูแลเอาใจใส่และอู่ซ่อมที่มีมาตรฐาน
ด้วยความคุ้มครองแบบครบวงจรและครอบคลุมรถยนต์ไฟฟ้าถึง 33 รุ่นจาก 20 แบรนด์ชั้นนำ ซึ่งการรับประกันภัยรถ EV ของบริษัทฯ นั้นมีการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมียอดสะสม (งานใหม่รวมต่ออายุ) ราว 2,000 คัน เป็นเบี้ยประกันภัยรวมมากกว่า 100 ล้านบาท (ณ มี.ค. 66)
โดยคาดว่าทั้งปี 2566 จะมีเบี้ยประกันภัยรวมไม่ต่ำกว่า 120-140 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีแผนจะพัฒนาความคุ้มครองใหม่ๆ พร้อมเพิ่มจำนวนรุ่นรถยนต์ไฟฟ้าที่รับประกันภัยอย่างต่อเนื่องตามความต้องการและรูปแบบความเสี่ยงภัย โดยได้เตรียมความพร้อมด้านบริการต่างๆ
ทั้งด้านสินไหมทดแทนยานยนต์ การสนับสนุนข้อมูลทางเทคนิคเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าแก่ฝ่ายรับประกันภัย รวมถึงจัดอบรมให้ความรู้แก่อู่ในสัญญาเพื่อเสริมศักยภาพในการซ่อมรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างเชี่ยวชาญเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า
แผนประกันภัยสุขภาพ + จิตเวช
นอกจากนี้ บริษัทเตรียมเสนอแผนประกันภัยสุขภาพ + จิตเวช ท่ามกลางสภาวะทางสังคมที่ไม่แน่นอน เปราะบางและมีแรงกดดันมากขึ้น จากข้อมูลของศูนย์โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต ปี 2564 ระบุว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน โดยผู้ป่วยจำนวน 100 คน สามารถเข้าถึงการรักษาเพียง 28 คนเท่านั้น
บริษัทฯ จึงมุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องจิตใจของคนในสังคมผ่านการเพิ่มความคุ้มครองด้านจิตเวชเข้ามาในเเผนประกันภัยสุขภาพเดิม ที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล หรือค่าตรวจรักษาอาการของโรคที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะทางจิตใจ หรือพฤติกรรมหรือความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ทั้งกรณีที่เป็นผู้ป่วยใน (IPD) และผู้ป่วยนอก (OPD) โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอขายได้ในช่วงกลางปีนี้
นอกจากนี้ ยังมีแผนประกันภัยนักดำน้ำ ที่จะสร้างความอุ่นใจให้กับกลุ่มนักดำน้ำ ทั้งผู้ที่เป็นมืออาชีพและมือสมัครเล่นในไทย ซึ่งความคุ้มครองได้ออกแบบมาเพื่อรองรับความเสี่ยงต่างๆ ของนักดำน้ำ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล การเคลื่อนย้ายเพื่อรักษาพยาบาลฉุกเฉิน เงินชดเชยต่างๆ เช่น อุปกรณ์ดำน้ำเสียหาย การยกเลิกโปรแกรมท่องเที่ยวดำน้ำ โดยมีให้เลือกทั้งเเบบรายทริป (ตามจำนวนวันที่เดินทาง) และรายปี (สูงสุด 30 วันต่อการเดินทางในแต่ละครั้ง) อีกด้วย