"เฮียฮ้อ" นำอาร์เอสโดดเข้าสู่ "เรด โอเชี่ยน" พิสูจน์ความกล้าขยายธุรกิจขึ้นทำเนียบแสนล้าน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"เฮียฮ้อ" นำอาร์เอสโดดเข้าสู่ "เรด โอเชี่ยน" พิสูจน์ความกล้าขยายธุรกิจขึ้นทำเนียบแสนล้าน

Date Time: 13 มี.ค. 2566 06:40 น.

Summary

  • วัย 60 สำหรับใครหลายคนคือวัยแห่งการพักผ่อน เกษียณอายุและหยุดทำงาน แต่สำหรับ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาร์เอส กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

Latest

จากเด็กชอบคอมพิวเตอร์สู่ "iHAVECPU" จากทุน 4 หมื่นสู่ยอดขาย 1,800 ล้านบาท

วัย 60 สำหรับใครหลายคนคือวัยแห่งการพักผ่อน เกษียณอายุและหยุดทำงาน แต่สำหรับ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาร์เอส กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้เรียกขานตัวเองว่า “เฮีย” กับคนทุกเพศทุกวัยได้อย่างถนัดปากและเป็นธรรมชาติ กลับเป็นโอกาสในการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ที่แหวกออกไปจากความถนัดเดิมแบบ 360 องศา...อีกครั้ง

ย้อนกลับไป 15 ปีก่อน อาร์เอสซึ่งเริ่มต้นจากธุรกิจเพลง ประกาศขายโรงงานผลิตซีดีและเทปเพราะไม่สามารถต้านกระแสดิจิทัล ดิสรัปชันจากเทคโนโลยี MP3 ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเพลงในขณะนั้นได้ จากนั้นอาร์เอสก็เงียบหายไปจากวงการเพลง แทบไม่มีการผลิตชิ้นงานใหม่ๆ มีเพียงธุรกิจคลื่นวิทยุในนาม Cool FM และบริหารลิขสิทธิ์เพลงที่มีอยู่จำนวนไม่น้อย

พอได้จังหวะมีการเปิดประมูลช่องทีวีดิจิทัล อาร์เอสซึ่งแว้บไปโลดแล่นอยู่ในแวดวงทีวีดาวเทียมอยู่พักใหญ่ ก็เข้าแข่งขันประมูล คว้าใบอนุญาตไปครองสำเร็จ กลายเป็นหนึ่งในช่องโทรทัศน์ระดับประเทศภายใต้แบรนด์ “ช่อง 8” เกาะกระแสความนิยมทำเรตติ้งได้ไม่เลวนัก ติดอยู่ในระดับท็อป 5-10 แล้วแต่จังหวะ

การได้ครอบครองช่องทีวีดิจิทัลระดับประเทศ เป็นเจ้าของสื่อที่มีโอกาสเข้าถึงสายตาผู้ชมระดับ 10 ล้านคน ยังกลายเป็นตัวจุดประกายให้มองเห็นโอกาสขยายธุรกิจสู่การขายและสร้างแบรนด์สินค้า (Product) จนปัจจุบัน รายได้ธุรกิจขายสินค้า (Commerce) คิดเป็นสัดส่วน 55-60% ของรายได้ทั้งหมด ขยายพอร์ตให้อาณาจักรอาร์เอสมีมูลค่าตลาด (Market Cap) รวมแตะ 15,000 ล้านบาทในปัจจุบัน

และอีกครั้งเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา เฮียฮ้อประกาศข่าวเข้าไปซื้อหุ้นใน บมจ.แกรททิทูด อินฟินิท หรือ GIFT ซึ่งทำธุรกิจขายและนำเข้าเคมีภัณฑ์ ใช้เงินส่วนตัวลงทุนจำนวน 340.88 ล้านบาท ถือหุ้นสัดส่วน 62.5% โดยมีแผนใช้ GIFT บุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ สร้าง New S-Curve ในธุรกิจที่ไม่คุ้นเคย

...ด้วยเหตุนี้ “เฮียฮ้อ” จึงตัดสินใจนั่งจับเข่าคุยกับ “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ถึงเป้าหมายอันแสนยิ่งใหญ่ ตั้งแต่การผลักดันอาณาจักรอาร์เอสให้มีมาร์เกตแคปแตะ 100,000 ล้านบาท ไปจนถึงการลงทุนส่วนตัวใน GIFT เพื่อมุ่งหน้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ ผ่านประสบการณ์ 41 ปีของเขาอย่างตรงไปตรงมา

“มาถึงทุกวันนี้ ยังต้องขอบคุณธุรกิจทีวีดิจิทัล ที่ทำให้รู้จักมองเห็นโอกาส เฮียมองว่าเรามีคนดูทีวีทุกวัน วันละ 10 ล้านคน ทำไมไม่หาโอกาสกับสิ่งนี้ เลยตัดสินใจทำธุรกิจขายและสร้างแบรนด์สินค้าขึ้นมา ตั้งแต่อาหารเสริม เครื่องดื่ม สกินแคร์ อาหารสุนัขและแมว จนกลายเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ สูงที่สุดของอาร์เอส”

ประสบการณ์ตอนนั้น สะท้อนมุมมองการทำธุรกิจของอาร์เอสในยุคปัจจุบันชัดเจน ที่ไหนปลาเยอะ ที่นั่นคือโอกาส พูดง่ายๆ ผู้บริโภคอยู่ตรงไหน อาร์เอสจะตามไป แม้ตลาดจะมีการแข่งขันสูง แต่ก็มักจะมีช่องว่างให้เจาะเข้าไปได้เสมอ

“สำหรับเฮีย มองว่าชีวิตจริงมันไม่มีหรอก ตลาดบลูโอเชี่ยน (Blue Ocean) ที่ไม่มีการแข่งขัน หรือถ้ามีก็มีได้แค่แป๊บเดียว ถ้ามันดีจริงและคนแข่งขันน้อย ไม่นานก็จะต้องมีคนเข้ามาแข่งขันเพิ่ม มันก็กลายเป็นการแข่งขันในทะเลเดือดแบบเรด โอเชี่ยน (Red Ocean) อยู่ดี เพราะฉะนั้นอย่าไปเสียเวลาหาตลาดบลู โอเชี่ยนเลย เฮียเป็นคนทำธุรกิจที่มองเทรนด์เป็นหลัก พร้อมโดดเข้าไปแข่งขัน ถ้าไม่อยากแข่งขันก็นอนอยู่บ้าน แค่นั้นแหละ”

ปัจจุบัน อาร์เอสจำกัดความตัวเองเป็น Entertainmerce ใช้จุดแข็งในฐานะธุรกิจบันเทิงและสื่อ ผนวกกับการขายสินค้า (Commerce) ปรับโครงสร้างธุรกิจให้เติบโตแข็งแกร่งทั้งแนวตั้งและแนวราบ ภายใต้เป้าหมายรายได้ปี 2566 ที่ 5,500 ล้านบาท มาจากธุรกิจ Commerce 3,100 ล้านบาท และธุรกิจบันเทิงและสื่อ 2,400 ล้านบาท

โดยโครงสร้างธุรกิจใหม่ของอาร์เอส ประกอบด้วย 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.RS Multimedia ซึ่งประกอบด้วยสื่อทุกประเภท, ช่อง 8, คลื่นวิทยุ COOL fahrenheit, ออนไลน์และอีเวนต์ต่างๆ

2. RS Music ประกอบด้วยค่ายเพลง RSIAM, kamikaze, RoseSound และบริษัท โฟร์ท แอปเปิ้ล รวมทั้งบริหารจัดการรายได้จากค่าลิขสิทธิ์เพลงในทุกช่องทางตั้งแต่จากออนไลน์สตรีมมิง ร้านค้า คาราโอเกะ และโชว์บิสต่างๆ

3.RS LiveWell เป็นบริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งประกอบด้วย RS Mall ที่เป็นช่องทางจำหน่ายของอาร์เอสเองในธุรกิจ Telesale, โฮมช็อปปิ้ง, ออนไลน์, ออฟไลน์ รวมทั้งแบรนด์ผลิตภัณฑ์ Well u, Vitanature+, Lifemate และ Camu C

4.RS Connect เป็นธุรกิจขายสินค้าโดยใช้คน (People Commerce) เป็นธุรกิจขายตรง ซึ่งประกอบด้วย ULife ธุรกิจขายตรงหลายชั้นที่อาร์เอสซื้อมาจากยูนิลีเวอร์เมื่อปี 2565 และ De Beste ขายตรงชั้นเดียว

5.RS Pet All ธุรกิจใหม่ที่จะให้บริการสำหรับสัตว์เลี้ยงครบวงจร ต่อยอดจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขและแมวเมื่อปีที่ผ่านมา ขยับสู่การเปิดร้านเพ็ทช็อป โรงพยาบาลสัตว์ โรงแรมสุนัข-แมว

ปีนี้ยังจะเป็นปีที่อาร์เอสกลับมาทำธุรกิจเพลงอีกครั้ง หลังหยุดนิ่งนานกว่า 15 ปี เนื่องด้วยวันนี้ ตลาดออนไลน์ สตรีมมิง เพลงเติบโตจนถึงจุดที่มีมูลค่าทดแทนหรือใหญ่กว่าตลาดเทปหรือซีดีในอดีตแล้ว จึงเป็นโอกาสขับเคลื่อนธุรกิจเพลงให้กลายเป็น New S-curve สร้างการเติบโตใหม่ให้อาร์เอสได้อีกครั้ง โดยจะเป็นการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์จากยุโรป ซึ่งยังเปิดเผยไม่ได้ว่าเป็นใคร

“การกลับมาของอาร์เอสในธุรกิจเพลงครั้งนี้ ไม่ได้มองว่าจะต้องสร้าง “ลิซ่า แบล็กพิงค์” คนที่ 2 หรือแข่งขันเทียบระดับกับค่ายเพลงเกาหลี เพราะความสำเร็จในระดับเมกะสตาร์ ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ และอาจไม่มีครั้งที่ 2”

มองแค่ว่าการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์จะช่วยสร้างความแตกต่างได้ แม้ไม่อาจคาดหวังส่วนแบ่งตลาดในระดับเดิม เหมือนเมื่อครั้งอาร์เอสเป็น 1 ใน 2 ผู้เล่นรายใหญ่ แต่ยุคนี้ไม่มีต้นทุนในการผลิตเทป ซีดี และการวางจำหน่ายผ่านตัวกลาง จึงน่าทำกำไรได้ไม่น้อยกว่า

แนวทางการบุกธุรกิจเพลงในปีนี้ เริ่มจาก 2 แนวคิด คือการกลับมาทำงานของกลุ่มศิลปินอาร์เอสยุค 90 และ Y2K ซึ่งเป็นยุคของศิลปินอาร์เอสอย่างแท้จริง ตั้งแต่ ดัง-พันกร, เต๋า-สมชาย, เจมส์ เรืองศักดิ์ และ D2B เป็นต้น ส่วนอีกแนวทางหนึ่งคือการสร้างศิลปินใหม่ขึ้นมา

“ธุรกิจเพลงจะเป็นธุรกิจแรกของอาร์เอส ที่จะ Spin-off คือแยกออกไปตั้งเป็นบริษัทย่อย เพื่อจดทะเบียนกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำธุรกิจเพลงครบวงจร ออนไลน์, คอนเทนต์, โชว์บิส, มาร์เก็ตติ้ง, อาร์ติสต์ แมเนจเมนต์และสร้างศิลปินใหม่ๆ โดยจะเริ่มต้นแผนภายในปี 2567 จากนั้นจะทยอยแตก 6 ธุรกิจแยกไปตั้งเป็นบริษัทย่อยเพื่อกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามลำดับ หากทำได้ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า มาร์เกตแคปของอาร์เอสจะทะลุ 100,000 ล้านบาททันที”

ขณะที่ธุรกิจใหม่ RS Pet All ซึ่งให้บริการสำหรับสัตว์เลี้ยงครบวงจรนั้น เป็นการต่อยอดจากธุรกิจขายอาหารสุนัขและแมว ซึ่งเติบโตรวดเร็วมาก สอดคล้องกับความต้องการคนรุ่นใหม่ที่มักอยู่เป็นโสด เลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อน หรือแต่งงานแต่ไม่มีลูก และเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นลูกแทน โดยแม้อุตสาห กรรมอาหารสัตว์เลี้ยงในไทยจะมีการแข่งขันมากมาย แต่ก็ยังมีช่องว่างทางการตลาดอยู่ ทั้งในมุมสินค้าและบริการ

“ความพยายามที่จะขยายธุรกิจออกไปให้หลาก หลาย ยังมาจากประสบ การณ์ตรงของเฮีย ขณะที่ธุรกิจเพลงซบเซา เราแข่งขันลำบาก อาร์เอสยังมีธุรกิจ Commerce เข้ามาเสริม ทำให้มีรายได้อีกทาง แน่นอน ทำหลายอย่าง ย่อมเหนื่อยที่จะโฟกัส แต่เวลาเศรษฐกิจไม่ดี ธุรกิจหนึ่งแย่ เรายังอาจมีธุรกิจที่ดีประคองให้ไปได้ต่อ เป็นการกระจายความเสี่ยง”

ส่วนการเข้าเทกโอเวอร์ GIFT ซึ่งเป็นธุรกิจส่วนตัวของเฮียนั้น มาจากการเห็นโอกาสมากมาย มีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าสนใจ แต่ไม่ใช่ทิศทางตามโมเดลธุรกิจของอาร์เอส GIFT จึงจะเข้ามาสร้างโอกาสในการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ

โดยขณะนี้ ธุรกรรมการเข้าซื้อหุ้นของ GIFT เสร็จสมบูรณ์แล้ว ผ่านการเข้าซื้อหุ้นบิ๊กลอตจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมคือ บมจ. ยูเนี่ยน ปิโตรเคมีคอล จำกัด (UKEM) จำนวน 62.5% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ GIFT รวมมูลค่ากว่า 340.88 ล้านบาท

มีเป้าหมายขับเคลื่อนสู่ธุรกิจใหม่ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) รวมทั้งร้านอาหาร 2.ธุรกิจเพื่อการรักษาสุขภาพ Hospitalily&Welness เพื่อให้สอดรับกับสังคมผู้สูงวัย แต่ไม่ใช่การทำธุรกิจโรงแรม 3.ธุรกิจแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ และ 4.ธุรกิจดาต้า โซลูชันส์ (Data Solutions) ซึ่งจะเริ่มคิกออฟได้ก่อน เนื่องจากอาร์เอสมีฐานข้อมูลเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว มองเป้าหมาย 3 ปี GIFT อาจมีมูลค่าใหญ่กว่าอาร์เอสและอาจควบรวมกันในที่สุด

ในวัยแตะ 61 ปี เฮียฮ้อพูดชัดเจนว่า ยังไม่พร้อมหยุดทำงาน ยังไม่พร้อมเกษียณ ชีวิตคือการทำงาน หาโอกาส ทุกวันนี้นึกภาพตัวเองไม่ออกว่าจะหยุดทำงานได้อย่างไร เพื่อนบางคนอยากไปพักผ่อน อยากเดินทางท่องเที่ยว “แต่เฮียยังอยากทำงานอยู่”

“เฮียขอเวลาอีก 5 ปีค่อยหาคนมาช่วยบริหารงานรายวัน แต่ไม่ใช่หยุดทำงานนะ เฮียจะนั่งตำแหน่งประธานกรรมการต่อไป ไม่ทำงานคงไม่ได้”

ทุกวันนี้นอกจากถือหุ้น 24% ในอาร์เอส และ 62.5% ใน GIFT แล้ว เฮียฮ้อยังถือหุ้นผ่านอาร์เอส ใน บมจ.เชฎฐ์ เอเชีย หรือ CHASE ซึ่งประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์-สินเชื่อรายย่อย ในสัดส่วน 20.35% ด้วย

เพราะยังไม่มีแผนล้างมือในอ่างทองคำ จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องหา “ฮ้อ 2” หรือ “ฮ้อ 3” เข้ามาช่วยทำงาน และนี่เป็นสิ่งที่พยายามหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด เพราะ“เฮียฮ้อมีได้แค่คนเดียว”.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ