ไทย-อิตาลี ร่วมผลักดันการค้าระหว่างประเทศ คาดเม็ดเงินสะพัด 5 พันล้าน USD

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทย-อิตาลี ร่วมผลักดันการค้าระหว่างประเทศ คาดเม็ดเงินสะพัด 5 พันล้าน USD

Date Time: 23 ม.ค. 2566 19:37 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • นักธุรกิจชั้นนำของอิตาลี และไทย ร่วมเจรจาทางการค้าใน การประชุม Italian-Thai Business Forum ครั้งที่ 8 คาดเม็ดเงินสะพัดเกือบ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

Latest


นักธุรกิจชั้นนำของอิตาลี และไทย ร่วมเจรจาทางการค้าใน การประชุม Italian-Thai Business Forum ครั้งที่ 8 คาดเม็ดเงินสะพัดเกือบ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานร่วมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า การประชุม Italian-Thai Business Forum จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างไทยและอิตาลีในด้านความร่วมมือทางธุรกิจและเป็นเวทีสำหรับผู้แทนภาคเอกชนและสมาคมการค้าของทั้งสองประเทศ ในการหารือเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน

โดยในปีนี้ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ วาเลนตีโน วาเลนตีนี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในอิตาลี, กล่าวเปิดการประชุม ที่ได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอิตาลี ซึ่งมีมายาวนาน ซึ่งในปี 2023 เป็นปีแห่งการครบรอบ 155 ปีของความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองประเทศ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตได้มีแผนที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์อย่างรอบด้าน

จากความสำเร็จของการประชุม อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ครั้งที่ 8 นี้ สะท้อนให้เห็นถึงการมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศในการพัฒนาการค้าทางธุรกิจร่วมกันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ

โดยอิตาลีถือเป็นคู่ค้าอันดับ 24 ของประเทศไทย โดยจากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระหว่างมกราคม-พฤศจิกายน 2565 ไทยและอิตาลีมีมูลค่าการค้ารวม 4,515.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 13.09% แบ่งเป็น

มูลค่าการส่งออกประมาณ 1,887.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการนำเข้าประมาณ 2,627.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องทางการค้าของอิตาลีและไทย รวมถึงโอกาสเพิ่มเติมในการเติบโตอย่างยั่งยืน

นายสรา ชื่นโชคสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในขณะที่ยังมีการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยวและผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ควรได้รับการจับตามองในอนาคตได้แก่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นจากเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ การเปิดประเทศของจีน โอกาสในการเกิดไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะเกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานเพิ่มเติมที่เป็นผลมาจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปสู่ผู้บริโภค

นางสาวฐนิตา ศิริทรัพย์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสำนักงานฯ ในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ผ่านนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการให้สิทธิพิเศษ ทั้งด้านภาษีและที่มิใช่ภาษี เช่น การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน

นอกจากนี้ ยังให้ข้อมูลเรื่องยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 5 ปี ระหว่าง 2566-2570 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง 5 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) บุคลากรที่มีศักยภาพสูง รวมถึงโลจิสติกส์และศูนย์กลางทางธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจที่มีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรม เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและความสามารถในการปรับตัว และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวถึงความสำเร็จจากการจัดงาน APEC ว่า ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงานและต้อนรับผู้นำเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขต รวมทั้งผู้นำแขกรับเชิญพิเศษของรัฐบาลไทย

โดยทั้งการประชุมคณะทำงานต่างๆ, การประชุมสภาที่ปรึกษาธุรกิจ APEC (ABAC) และการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ (APEC CEO Summit) ต่างประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติต่อประเทศไทย ด้วยแนวคิด BCG : Bio-Circular-Green Economic Model เพื่อให้เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างยั่งยืน

นายเปาโล มากรี Executive Vice President, Italian Institute for International Political Studies (ISPI) กล่าวว่า ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้แก่ สงครามร้อนในยุโรประหว่างยูเครนและรัสเซีย และสงครามเย็นในเอเชียระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในปี 2565 สร้างความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยในอนาคตสิ่งที่ยังคงต้องคอยจับตามองคือทิศทางของสงคราม ตลอดจนผลกระทบที่มีต่อการค้า ห่วงโซ่อุปทาน พลังงาน และสภาวะเงินเฟ้อ

นายคาร์โล อัลโตมอนเต Associate Dean and Director of PNRR Lab, Bocconi University ได้กล่าวถึงการรับมือของสหภาพยุโรปต่อการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ผ่านโครงการความช่วยเหลือทางการเงินที่ให้แก่ประเทศสมาชิกในนาม กองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (EU Recovery Fund) ซึ่งจัดสรรให้กับประเทศสมาชิกบนพื้นฐานของตัวเลข GDP และความรุนแรงของผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ อิตาลีเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และมีความมุ่งมั่นที่จะใช้งบประมาณในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของประชาชนรุ่นต่อไป ผ่านเป้าหมายด้านการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล และนวัตกรรม

วิวัฒนาการสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านทางนิเวศวิทยา โครงสร้างพื้นฐานเพื่อความสามารถในการเคลื่อนย้ายและเดินทางที่ยั่งยืน การศึกษาและค้นคว้าวิจัย การสร้างสังคมสำหรับทุกคนและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตลอดจนความเข้มแข็งด้านสุขภาพ

สำหรับการประชุมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่มในครั้งนี้ คณะกรรมการฝ่ายอิตาลีที่ได้เข้าร่วม ได้แก่

- อิตาโมบิลิอาเร (Italmobiliare)
- ซีไอเอส ซิซิลี (CIS Sicily & Unicitrus)
- คาวันญ่า กรุ๊ป เอเชีย (Cavagna Group Asia)
- ซีเอ็นเอช (CNH)
- ดาเนียลี (Danieli)
- ดูคาติ (Ducati)
- เฟอเรโร่ (Ferrero)
- อินเตซา ซานเปาโล (Intesa Sanpaolo)
- พีเรลรี (Pirelli)
- ไซเปม (SAIPEM)
- สถาบันประกันสินเชื่อเพื่อการค้าและการส่งออกของอิตาลี (SACE)
- วิตตอเรีย (Vittoria)

ส่วนผู้เข้าร่วมจากประเทศไทย
- กลุ่มเซ็นทรัล
- ธนาคารกรุงเทพ
- โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่
- อีโนเว รับเบอร์
- เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์
- สิงห์คอร์เปอเรชั่น
- ไทยซัมมิท
- เบทาโกร
- ปตท
- เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์
- การบินไทย
- ไทยวิวัฒน์ประกันภัย
- แอลไลด์ เม็ททัลส์
- กราฟีน ครีเอชั่นส์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ