Molly Ally ไอศกรีม Plant based จากโปรเจกต์จบป.โทสู่การมีหน้าร้านที่ยอดขายไม่ธรรมดา

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

Molly Ally ไอศกรีม Plant based จากโปรเจกต์จบป.โทสู่การมีหน้าร้านที่ยอดขายไม่ธรรมดา

Date Time: 20 ธ.ค. 2565 16:22 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • ไอศกรีม Plant based นอกจากรสชาติที่ต้องอร่อยแล้ว แต่การบริหารต้นทุนสำคัญ เพราะวัตถุดิบราคาสูง

Latest


  • Molly Ally ไอศกรีม Plant based เกิดจากโปรเจกต์จบปริญญาโทที่ไปคว้ารางวัลจากสหรัฐฯ จนมีหน้าร้านของตัวเอง
  • ไอศกรีม Plant based นอกจากรสชาติที่ต้องอร่อยแล้ว แต่การบริหารต้นทุนสำคัญ เพราะวัตถุดิบราคาสูง
  • ยอดขายพีกสุดคือ ขาย 1,500,000 บาทต่อเดือน เป้าหมายของ Molly Ally คือการเป็นท็อปออฟมายด์ของพรีเมียมเฮลตี้ไอศกรีม 

เราต้องยอมรับว่า อาหาร หรือขนมที่ทำจาก Plant based ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มาจากถั่ว พืช และไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์กำลังได้รับความนิยมจากคนยุคใหม่ที่หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะตั้งแต่โควิดระบาดเราจะเห็นได้ว่า เทรนด์อาหารสุขภาพกลับมาได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

นอกเหนือจากอาหารสุขภาพที่เป็น Plant based แล้ว มาถึงวันนี้เราก็มีไอศกรีมที่ทำจาก Plant based 100% ที่ให้รสสัมผัสเหมือนกับไอศกรีมที่ทำจากนมวัว ที่สำคัญแนวคิดนี้มาจากห้องเรียนปริญญาโท เรียกได้ว่าจากโปรเจกต์จบมาสู่การมีหน้าร้านจริงๆ และทำยอดขายได้มากที่สุด คือ  1,500,000 บาทต่อเดือน

รตี บวรมงคลศักดิ์ เล่าว่า แนนกับรุ่นพี่อีกสองคน คือ เพชร กานต์ชนิต บุบผาชื่น และ ออม โชติมา มีมุ่งธรรม เป็นนักศึกษาโครงการปริญญาโททางการตลาด หลักสูตรนานาชาติ ทำโปรเจกต์จบที่ชื่อ Molly Ally เป็นไอศกรีมแพลนต์เบส ที่ไปคว้าแชมป์ New Venture Champion 2021 ที่สหรัฐฯ พอเราชนะรางวัลก็นำเงินที่ได้นั้นมาจดทะเบียนตั้งบริษัท Molly Ally ในทันที

หากย้อนกลับไปตอนช่วงทำโปรเจกต์ แนนทำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมาก่อน คือ Cafe Cococano ที่ครีเอตเมนูขนมไทย ยกระดับให้ดูน่ารับประทาน โดยเฉพาะบัวลอย Cococano ปัจจุบันก็มีสาขาอยู่ประมาณ 4 แห่ง

หลังจากแนนเรียนจบปริญญาตรีก็เลยอยากพัฒนาอะไรใหม่ๆ ให้กับร้าน Cafe Cococano พอเรามาอยู่หน้าเคาน์เตอร์ เราก็มองเห็น pain point บางอย่าง ลูกค้าเริ่มถามหาว่ามีเมนูอื่นที่มีส่วนผสมของนมโอ๊ต นมถั่วเหลืองไหม เราก็เห็นว่า เริ่มมีคนตระหนักรู้เรื่องการแพ้นม และมองหาว่ามีเครื่องดื่ม และอาหารอะไรบ้างที่เขาพอจะทานได้

"เราก็เริ่มเห็นว่าตลาดอาหารสุขภาพมีความน่าสนใจ ศึกษาไปเรื่อยๆ จึงมาเจอโปรดักต์ที่เรียกว่า Plant based ที่เป็นวัถตุดิบบที่มาจากพืช และ ถั่ว ที่ไม่ใช้นมวัว จากนั้นก็มาคิดกันว่าจะทำอะไรดี สุดท้ายก็โหวตและมาจบที่ไอศกรีม เพราะเราอยากเป็น Plant based ที่อร่อย ทำให้คนกินมีความสุขได้ก็เลยออกมาเป็นแบรนด์ Molly Ally ที่ไอศกรีมเข้มข้น มีความเป็นครีมมี่และอร่อย เพราะเขาไม่รู้เลยว่าไอศกรีมเราไม่มีนม อันนี้เป็นความตั้งใจเราแต่แรก"

ส่วนพาร์ตเนอร์ทั้งสองคนนั้น ออมเป็นเป็น UXUI มาก่อน และมีพื้นฐานการทำขนม และอาหารด้วยเพราะที่บ้านทำธุรกิจอาหาร ซึ่งตอนนี้ออมเป็น R&D ดูและเรื่องโรงงาน ระบบการผลิต ส่วนเพรชจะดูพวกมาร์เก็ตติ้งแบรนดิ้ง การออกแบบดีไซน์เป็นหลัก

การบริหารต้นทุนสำคัญ เพราะวัตถุดิบราคาสูง

อย่างที่รู้ๆ กันว่า ส่วนผสม และวัถตุดิบไม่ว่าจะเป็นถั่ว หรือนมโอ๊ต นมอัลมอนด์ นมถั่วพิสตาชิโอ ราคาค่อนข้างสูง เราก็แก้ปัญหาด้วยการหาพาร์ตเนอร์ ก่อนอื่นจะต้องเอามาลิสต์ก่อนว่า วัตถุดิบไหน ยี่ห้อไหนที่เข้ากับไอศกรีมเรามากที่สุด เราก็จะเลือกแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งไปเลย เพื่อให้รสชาติมาที่หนึ่ง แม้ต้นทุนสูง แต่เราก็พยายามตั้งราคาให้ลูกค้ารับได้ เป็นต้นทุนที่เราต้องคุมเอง เพราะเราเน้นวัตถุดิบสดใหม่ และออร์แกนิกทั้งหมด

โจทย์ที่สำคัญอีกอย่างคือ นมโอ๊ต และนมอัลมอนด์ มีกลิ่นเฉพาะตัว เวลาจะเอาไปผสมกับส่วนผสมอื่นๆ กลิ่นจะโดดบ้าง รสชาติโดดบ้าง ปัญหาคือ ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เขาไม่รู้ว่านี่ คือ ไอศกรีมสุขภาพ ไม่ให้มีกระทั่งกลิ่นของนมโอ๊ต

"เช่นถ้าเป็นรสสตรอว์เบอร์รี และกล้วย เราก็ต้องหาวัตถุดิบ หรือ นมอะไรที่นำมาประกอบให้ได้กลิ่นและรสชาติเข้ากันได้ ซึ่งเราค่อนข้างซีเรียสเรื่อง R&D มาก เราจะมีทีมเชฟ ทีมโปรดักต์ที่เข้ามาดูแลโดยตรงเพื่อให้ได้ไอศกรีม Plant based ที่ดีที่สุด และอร่อยเหมือนไอศกรีมปกติ"

ทลายกำแพงคำว่า Plant based ไม่อร่อย

แนน เล่าอีกว่า จริงๆ หลายคนก็อาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจอาหาร Plant based หลายๆ คนจะเข้าใจและชินกับคำว่า วีแกน มังสวิรัติ หรือ เจ ซึ่งกำแพงสำคัญ คือ เวลาพูดว่า เจ ก็คือไม่อร่อย มังสวิรัติ ไม่อร่อย

สิ่งนี้ค่อนข้างยากที่เราจะให้ความเข้าใจกับผู้คนว่า ต่อให้เราเป็น Plant based แม้จะใกล้เคียงกับคำว่าเจ แต่เราอร่อยกว่า เราก็พยามชูรีวิวลูกค้า อะไรก็ตามให้เขามั่นใจจริงๆ ว่าอร่อยจริงๆ นะ

"เวลาอยู่หน้าร้าน แนนก็จะบอกลูกน้องเสมอๆ ว่า ให้ลูกค้าได้ชิมไอศกรีมของเราให้ได้มากที่สุด เพราะหลายคนเห็นคำว่า Plant based เขาก็เดินหนีไปเลยก็มี เราก็ต้องมีอะไรบางอย่างพิสูจน์ว่าของเราอร่อยจริงๆ นะ แม้จะเป็น Plant based"

หากย้อนกลับไปตอนที่เรากำลังส่งประกวด เราก็คุยกันในกลุ่มว่า "เราจะไม่มีวันชนะหรอกถ้าไม่ได้พิสูจน์ให้เขารู้ว่า ไอศกรีม Plant based ของเราอร่อย" จากนั้นเราก็ทำวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำไอศกรีมไปจากกลุ่มทดลองของเราจำนวน 1,000 คน เพื่อให้คอมเมนต์ และให้คะแนน เราก็นำคอมเมนต์มาปรับปรุงพัฒนาจนได้รสชาติที่ดีที่สุด พอมาเปิดร้านจริงๆ ก็พบว่าลูกค้าชื่นชอบ และตามหาแบรนด์ของเรา 

อนาคตของ Plant based และ Molly Ally

ในอนาคตตลาด Plant based จะเติบโตกว่านี้ เราพบว่า มีคนแพ้นมวัวค่อนข้างมาก และหลายคนก็มองหาขนมหรือ ไอศกรีมที่มีประโยชน์ เจ้าใหญ่ๆ ก็เริ่มมาทำ Plant based แล้ว แต่ก็ยังมีช่องว่างให้เราได้เติบโตในตลาดนี้อีกมากมาย

หากย้อนกลับไปแบรนด์เราเกิดขึ้นในช่วงโควิด ช่องทางเดียวที่ขายได้ก็คือ ออนไลน์ และเดลิเวอรี เราก็ใช้ช่องทางนี้ให้ดีที่สุด เอาลูกค้าเป็นที่ตั้ง ได้ฟีดแบ็กดี ทำดีให้สุดระหว่างทาง ไม่ใช่ว่าหมดโควิด จะไม่มีปัญหา ก็มีเหมือนกัน เพราะเราลงทุนกับออนไลน์ไปมากพอสมควร

"ตอนโควิดคลี่คลายเราก็อึนเหมือนกัน แต่เดิมมีลูกค้าสั่งออนไลน์เรามาเรื่อยๆ ปรากฏว่ายอดดรอปลงพอสมควร เราก็มานั่งคิดว่าเอาอย่างไรต่อดี เราสามคนก็เลยมาคุยกันถึงปัญหาว่าเราต้องมีหน้าร้าน โดยเลือกจุดที่มีลูกค้าของเราอยู่เลยเลือกเอ็มควอเทียร์เป็นที่แรก เรียกได้ว่าผลตอบรับดีกว่าที่คิดเยอะ เราก็เลยทำสาขาอื่นๆ ตรงที่ลูกค้าเราอยู่ ก็ดีขึ้นในแง่ของยอดขาย ที่สำคัญคนรู้จักแบรนด์เรามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด"

ปัจจุบัน Molly Ally มีหน้าร้าน 5 สาขา ได้แก่ รัชโยธิน สามย่าน อ่อนนุช ราชพฤกษ์ และ พระราม 2 ส่วนต่างจังหวัดที่ไปแล้วได้แก่ เชียงใหม่ และเร็วๆ นี้ที่พัทยา ซึ่งจะเป็นลักษณะแบบเดลิเวอรี ส่วนที่เราจะไปเพิ่มเติมด้วยก็คือ โรงพยาบาลเอกชน โรงเรียนนานาชาติ เรามองว่าตรงนั้นมีดีมานด์ที่น่าสนใจ

"เราตั้งใจให้ Molly Ally เป็นท็อปออฟมายด์ของพรีเมียมเฮลตี้ไอศกรีม ทั้งในไทยและเอเชียภายใน 5 ปี ซึ่ง 1-2 ปีนี้เราต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ในไทย รู้จักแบรนด์เราให้มากที่สุด พอเราประสบความสำเร็จในฝั่งไทยแล้ว จะไปทำแบบนี้ที่ต่างประเทศ ซึ่งปีหน้าเราจะไป THAIFEX เพื่อหาพาร์ตเนอร์และคู่ค้าต่างประเทศอีกด้วย"

แนน ทิ้งท้ายว่า ตอนเรียนกับตอนทำธุรกิจจริงไม่หมือนกันเลย เราต้องเอามาประยุกต์กัน เพราะตอนเราทำธุรกิจจริง อาจารย์ไม่ได้มาบอกเรา หรือมาแนะเราว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ คิดแล้วต้องลงมือทำเลย มันเป็นเรื่องของ passion และที่สำคัญต้องสู้กับทุกอุปสรรค เรียนรู้ และปรับตัวให้เร็วที่สุด 

ผู้เขียน : กมลทิพย์ หิรัญประเสริฐสุข kamonthip.h@thairathonline.co.th 
ช่างภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์